กฟผ.แม่เมาะ ชู Lampang Green Model ทางรอด จ.ลำปาง ในยุคเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว

กฟผ.แม่เมาะ จัดกิจกรรมจิบกาแฟแฉไอเดีย พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับสื่อมวลชน จ.ลำปาง ถึงความก้าวหน้าภาพรวมของโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ ตลอดจนโครงการ Mae Moh Green Model สู่ Lampang Green Model จังหวัดลำปางสู่เส้นทางการเป็นต้นแบบเมืองสีเขียว เชิญชวนสื่อมวลชนในพื้นที่เป็นอีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนโครงการต่อยอดเศรษฐกิจและการพัฒนาจังหวัดลำปาง
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ณ ห้องประชุม Tara Hall A โรงแรม Tree Tara อ.เมือง จ.ลำปาง แผนกประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้าแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)แม่เมาะ จัดกิจกรรมจิบกาแฟแฉไอเดีย เพื่อให้ผู้บริหาร กฟผ.แม่เมาะ พบปะสื่อสารแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับสื่อมวลชนในพื้นที่ จ.ลำปาง ในหัวข้อ “Mae Moh Green Model สร้างสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนสู่เมืองเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” เพื่อแถลงถึงความคืบหน้าตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีในการขับเคลื่อนโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) ที่มุ่งพัฒนาพื้นที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมใน 3 มิติ ได้แก่เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในยุคการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินไปสู่พลังงานสะอาดในอนาคต
โดยมีนางเกษศิรินทร์ แปงเสน หัวหน้าโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City), นางฐิติพร สุภาษี หัวหน้าหน่วยพัฒนาโครงการ และนายศีลวันต์ โสฬสลิขิต หัวหน้าหมวดบริหารจัดการพื้นที่ หน่วยวางแผนและบริหารจัดการ เป็นผู้ให้ข้อมูลและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับสื่อมวลชน
 
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวในพื้นที่ จ.ลำปาง ได้ให้ความสนใจในประเด็นการก้าวไปสู่ Lampang Green Model จังหวัดลำปางสู่เส้นทางการเป็นต้นแบบเมืองสีเขียวตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย(PDP 2024) เนื่องจากกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะจะลดลงกว่าครึ่งในปี 2569 และกิจกรรมของโรงไฟฟ้าแม่เมาะและเหมืองแม่เมาะจะสิ้นสุดลงในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) ของจังหวัดลำปางกว่า 12,505 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 17.5 ซึ่งจังหวัดลำปางเป็น 1 ใน 10 เมืองรองที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจ มิติด้านการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยว พร้อมรับการผลักดันสู่การเป็นเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) ผ่านการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่อำเภอแม่เมาะ และจังหวัดลำปาง เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมสีเขียวและศูนย์กลางโลจิสติกส์ ผ่านแผนศึกษาพัฒนาพลังงานสะอาด ของ กฟผ. อาทิ Solar Farm, Biomass, Hydrogen Fuel source, Pump Storage และ Carbon Capture Storage เพื่อเพิ่มทางเลือกและตอบโจทย์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
สื่อมวลชนยังให้ความสนใจกิจกรรมการท่องเที่ยวด้านกีฬาอย่างงานวิ่งแม่เมาะฮาล์ฟมาราธอนที่ล่าสุดสามารถยกระดับสนามแข่งขันฮาล์ฟมาราธอนสู่มาตรฐาน World Athletics แห่งแรกในภาคเหนือ สามารถต่อยอดสร้างเศรษฐกิจให้กับผู้คนในพื้นที่ ตลอดจนการหาตลาดจำหน่ายสินค้าให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนในพื้นที่ อ.แม่เมาะ ให้เกิดความยั่งยืนในการสร้างอาชีพ และได้ชื่นชมการดำเนินงานของ กฟผ.แม่เมาะ ภายใต้การดำเนินงานของโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ที่ได้เตรียมความพร้อมในการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ชุมในพื้นที่ อ.แม่เมาะ อย่างยั่งยืน หาก กฟผ.แม่เมาะ หยุดกิจการผลิตไฟฟ้า ซึ่งสื่อมวลชนมองว่าโครงการของโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่เป็นโปรเจคใหญ่ระดับจังหวัดและระดับประเทศต้องดึงทุกภาคส่วนในจังหวัดลำปางเข้ามาร่วมกันดำเนินงานในการขับเคลื่อนให้สำเร็จและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นางเกษศิรินทร์ แปงเสน หัวหน้าโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) กล่าวช่วงท้ายของงานในครั้งนี้ว่า ขอบคุณสื่อมวลชนทุกๆท่านที่ช่วยเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานของโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่มาโดยตลอด ทำให้โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ซึ่งมีหลายหน่วยงานเข้ามาดูศึกษางานเป็นจำนวนมาก หลายๆโครงการสามารถนำไปขยายผลต่อยอดในพื้นที่อื่นๆได้ สื่อมวลชนถือเป็นอีกพันธมิตรหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่แม่เมาะ และลำปาง เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดลำปาง กฟผ. จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราจะเติบโตและยั่งยืนไปด้วยกัน