โครงการ สทบ. สัญจร 13 สาขา แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกองทุนหมู่บ้าน

 

สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ จัดโครงการ สทบ. สัญจร 13 สาขา แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกองทุนหมู่บ้าน สถาบันการเงินชุมชน โครงการประชารัฐ โครงการต้นแบบ BCG คณะกรรมการสมาชิกฯ ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG พัฒนาเศรษฐกิจต่อยอดจุดแข็งของประเทศ ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

 

สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้มีการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาประเทศ ผ่านกลไกกองทุนหมุบ้านและชุมชนเมือง สถาบันการเงินชุมชน ตลอดจนการใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อเชื่อมโยงกับหลักคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นการสานพลัง ของจตุภาคีทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐ และภาควิชาการ โดยขับเคลื่อนประเทศด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน และยุทธศาสตร์ที่ 4 เสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ มีบทบาทสำคัญในการสร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากด้วยความเข้มแข็งมั่นคงและยั่งยืนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเป็นศูนย์กลางและโครงข่ายการเรียนรู้ เงินทุน สวัสดิภาพ สวัสดิการ และการแก้ไขปัญหาของหมู่บ้านและชุมชนพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนครัวเรือนสมาชิกมีความเป็นอยู่ที่พอเพียง อบอุ่น เข้มแข็ง สู่การเป็นภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมของชาติด้วยแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามวิถีและภูมิปัญญาตนเองของชุมชนท้องถิ่น สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ จึงได้จัดทำโครงการ สทบ. สัญจร 13 สาขา เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกองทุนหมู่บ้าน สถาบันการเงินชุมชน โครงการประชารัฐ โครงการต้นแบบ BCG คณะกรรมการสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน เพื่อเป็นกลไกในการสร้างความเข้าใจในนโยบายรัฐบาล แก่คณะกรรมการ สมาชิก และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และกำหนดแนวทางแก้ปัญหา อุปสรรคต่างๆ ของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง นำมาปรับปรุงและประยุกต์ใช้ให้มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามการจัดโครงการ สทบ. สัญจร 13 สาขา นั้นจะสอดคล้องกับการขับเคลื่อนการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG โมเดลครอบคลุม 4 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็น S-Curve ได้แก่ เกษตรและอาหาร พลังงานและเคมีชีวภาพ การแพทย์และสุขภาพ และการท่องเที่ยว การทำงานในแต่ละด้านเป็นพีระมิดที่ส่วนยอด หมายถึงผู้ประกอบการที่มีความพร้อมสูงมีกำลังลงทุนในเทคโนโลยีและพร้อมรับความเสี่ยง ถึงแม้จะมีจำนวนน้อยแต่สร้างมูลค่าเพิ่มได้สูง และเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ดังนั้นการประชุมร่วมหารือแลกเปลี่ยนรวมทั้งเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ ในมิติเศรษฐกิจปัจจุบันนั้น ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อนำมาปรับปรุงจุดด้อย พัฒนาจุดเด่นขององค์กรและหน่วยงานตนเองได้ในลำดับต่อไป เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนด