กฟผ.แม่เมาะ จัดอบรมโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” สำหรับชุมชน ปีที่ 2

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 นายอนุสรณ์ บุญรอด ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้า แม่เมาะ-1 เป็นประธานเปิดการอบรม โครงการกสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์โคกหนองนาโมเดลสำหรับชุมชน ปีที่ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-30 พฤษภาคม 2566 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กฟผ.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการทำเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นวิทยากรบรรยายและนำฐานกิจกรรม อาทิ การบรรยายในเรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การบรรยายตัวอย่างความสำเร็จการขับเคลื่อนตามศาสตร์พระราชา 4 พอ ตามหลักทฤษฎีบันใด 9 ขั้น, การลงฐานเรียนรู้ด้านการผสมผสานของเกษตรทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” โมเดล ได้แก่ ฐานคนรักษ์แม่ธรณี ฐานคนมีน้ำยา ฐานคนเอาถ่าน ฐานคนติดดิน ฐานคนรักษ์สุขภาพและภูมิปัญญาชาวบ้าน ฐานคนรักษ์สมุนไพร ฐานคนรักษ์แม่โพสพ ฐานคนรักษ์ป่าและน้ำ ตลอดจนเข้าร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคีสัมผัสกับการลงมือปฏิบัติจริงในพื้นที่แปลงตัวอย่างของรุ่นพี่กสิกรรมธรรมชาติที่ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมจากศูนย์ฯในปี 2565

กฟผ.แม่เมาะ จัดโครงการกสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์โคกหนองนาโมเดลสำหรับชุมชนครั้งแรก ในปี 2565 ถ่ายทอดความรู้ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ผสมผสานกับเกษตรทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” โมเดล เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับการพัฒนาจัดการพื้นที่ทางการเกษตรของตน ตลอดจนนำไปพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ ซึ่งในปี 2566 มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมรุ่นที่ 1 จำนวน 71 คน ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.ลำปาง จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.แพร่ จ.นครสวรรค์ และ จ.ขอนแก่น

ศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กฟผ.แม่เมาะ เป็น 1 ใน 10 พื้นที่ต้นแบบในการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชาในโครงการ 7 เขื่อนพระนาม 3 โรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นนโยบายของ กฟผ. ที่จะสืบสานศาสตร์พระราชา ขยายผลองค์ความรู้ไปยังชุมชนและผู้ที่สนใจ โดยศูนย์ฯ กฟผ.แม่เมาะ ได้จัดแบ่งพื้นที่ 35 ไร่ ให้เป็นฐานเรียนรู้ด้านการผสมผสานของเกษตรทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” โมเดล มีบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์พระราชาที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง จากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี และศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จังหวัดนครนายก เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ในการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า และการทำเกษตรแบบไม่พึ่งสารเคมี โดยอาศัยเทคโนโลยีและภูมิปัญญาชาวบ้านเข้ามาทดแทน ให้กับประชาชนและเกษตรกรที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้และสามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ต่อไป.