สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง สนธิกำลัง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ส่วนป้องกันฯ สถานีควบคุมไฟป่าแม่สะเรียง หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 เร่งควบคุมเพลิงควันไฟป่า แนวชายแดน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 นายพรเทพ เจริญสืบสกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16
สาขาแม่สะเรียง เปิดเผยว่า ตามที่ตรวจพบ การเกิดจุด hotspot ไฟป่าที่คาดว่าจะลุกลาม ในเขตริมน้ำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน นายอรรถพล เจริญชันษา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีความห่วงใยในปัญหาไฟป่าในพื้นที่ จึงสั่งการให้ทุกพื้นที่เฝ้าระวังและเข้าดับไฟเพื่อไม่ให้ลุกลามในวงกว้างอย่างเร่งด่วน
นายพรเทพ เจริญสืบสกุล กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 11.00 น. ได้มีการประชุมสนธิกำลังร่วมเพื่อดำเนินการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าพื้นที่ริมแม่น้ำสาละวินตามแนวเขตที่ติดกับประเทศพม่า โดยมีการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าจาก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน 25 นาย ส่วนป้องกัน 4 นาย สถานีควบคุมไฟป่าแม่สะเรียง 1 ชุด หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 จำนวน 7 นาย พร้อมเรือยาวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน 2 ลำ และเรือท้องแบนกรมทหารพรานที่ 36 แม่สะเรียง 1 ลำ
จนกระทั่งเวลา 15.30 น. เริ่มออกปฏิบัติการโดยเดินทางทางรถยนต์ถึงจุดรวมพลหน่วยพิทักษ์สบแงะเป็นระยะทาง 54 กิโลเมตร ถึงจุดนัดหมายช่วงเย็น จึงเข้าที่พักก่อนเตรียมออกปฏิบัติการในวันที่วันรุ่งขึ้นเนื่องจากพื้นที่ไม่สามารถเดินทางต่อทางน้ำในเวลากลางคืนได้
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 07.00 น.เจ้าหน้าที่ ออกเดินทางทางเรือพร้อมเสบียง และสามารถเข้าถึงพื้นที่กลุ่มควันที่จุดสกัดนอปานาและหน่วยผาแดง 5 จุด จัดชุดลงดำเนินการดับไฟ (อยู่ระหว่างดำเนินการ) ชุดอื่นๆเดินทางทางเรือต่อ จัดชุดลงในพื้นที่เกิดไฟป่าและพื้นที่ที่ประเมินว่าเสี่ยง โดยได้จัดชุดลงพื้นที่ดำเนินการเป็นระยะ จนสุดเขตแดนติดต่อไทยพม่าที่ดอยผาตั้ง ระยะทางทางน้ำ ประมาณ 70 กม.เดินทางประมาณ 3 ชม. ชุดปฏิบัติการลงพื้นที่ดำเนินการดับไฟป่า(อยู่ระหว่างดำเนินการ) เนื่องจากจุดเกิดไฟป่าเป็นพื้นที่ที่ติดชายแดน เจ้าหน้าที่มีความเสี่ยง ในกรณีเดินทางเข้าพื้นที่มาก ระยะทางในการเข้าพื้นที่ห่างไกล สภาพภูเขาสูงชัน สภาพความเชี่ยวของแม่น้ำสาละวินที่รุนแรงแรงและเป็นพื้นที่ขาดสัญญาณการติดต่อ ซึ่งเป็นปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงาน จึงจำเป็นต้องประสานงานกับหน่วยงานภายนอกในการปฏิบัติงาน สำหรับภารกิจการปฏิบัติการในครั้งนี้มีกำหนดจะดำเนินการประมาณ 5 วัน เมื่อสถานการณ์ปกติ จะมอบพื้นที่เฝ้าระวังให้กับหน่วยรับผิดชอบต่อไป
วิรัตน์ นันทะพรพิบูลย์ จ.แม่ฮ่องสอน – รายงาน