อาชีพไรเดอร์อาชีพอิสระ สามารถทำเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้หลังเลิกงาน ไรเดอร์ทั่วไทยเรียกร้องจากระบบที่กดขี่

ตามหลักแล้วอาชีพไรเดอร์คืออาชีพอิสระ สามารถทำเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้หลังเลิกงาน
แต่ระยะหลังมานี้ระบบการจ้างงานของแพลตฟอร์มได้กดดันไรเดอร์ผ่านจำนวนรอบที่วิ่งงาน
จากที่เคยวิ่งมาก ขยันมาก ยิ่งได้เงินมาก ก็กลายเป็นวิ่งตามการจ่ายงานของระบบ และไรเดอร์บางบริษัทยิ่งวิ่งยิ่งจน อาชีพที่ควรเป็นอิสระกลับต้องถูกระบบบังคับให้อยู่ในกรอบกฏเกณฑ์
#ข้อเรียกร้องจากไรเดอร์ทั่วไทย
ความอัดอั้นจากระบบที่กดขี่ ไม่ได้เกิดขึ้นกับไรเดอร์เจ้าใดเป็นการเฉพาะ
ซึ่งในปี 2565 นี้ การเคลื่อนไหวของไรเดอร์สะท้อนให้เห็นว่าแพลตฟอร์มรับส่งอาหารกำลังมีปัญหาอะไร

7 ก.พ.2565 ไรเดอร์ หาดใหญ่ รวมตัวกันนัดหยุดงานประท้วง ประเด็นที่เรียกร้องคือค่ารอบที่ไม่เป็นธรรม หลังจากที่บริษัทมีการปรับลดค่ารอบลง จาก 31 บาท ลดลงเหลือ 27 บาท สวนทางกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน ค่าสึกหรอ
11 ก.พ. ไรเดอร์ขอนแก่น นัดประท้วงหยุดงานในเวลา 10.00 น. โดยรวมพลที่ บึงแก่นนคร ประเด็นมาจากการลดค่ารอบที่ไม่เป็นธรรม
15 ก.พ. ไรเดอร์เชียงใหม่นัดหยุดงาน ประท้วงค่ารอบที่ไม่เป็นธรรม ยื่นหนังสือถึงศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด
22 ก.พ. ไรเดอร์ จ.สิงห์บุรีรวมตัวยื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัดและประท้วงหยุดงานในช่วงเวลาอินเซนทีฟ (มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก)
24 ก.พ.ไรเดอร์ จ.สิงห์บุรีรวมตัวเข้ายื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และนัดหยุดงานในช่วงเวลา Incentive โดยไรเดอร์ได้นับผลกระทบจากระบบที่บังคับให้ต้องเร่งรีบทำรอบเพื่อให้ได้เงินจูงใจตามที่บริษัทออกมา ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อผู้ใช้รถใช้ถนน และตัวไรเดอร์เอง โดยบริษัทแพลตฟอร์มมักลดค่ารอบหลักไรเดอร์

11 พ.ค ไรเดอร์ลาล่ามูฟ จำนวนหนึ่งรวมตัวที่หน้าอาคารสาธรธานีเพื่อเป็นการสะท้อนว่าไม่เห็นด้วยกับการที่บริษัทปรับลดค่าตอบแทนด้วยการยกเลิกอัตราบริการเริ่มต้น 33 บาทต่องาน รวมถึงลดอัตราค่ารอบอย่างต่อเนื่อง
26 พ.ค.ไลน์แมนอ่างทอง รวมตัวยื่นหนังสือถึงศูนย์ดำรงธรรม เรื่องสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม โดยบริษัทละเมิดสภาพการจ้างงาน จากการ “กดแย่งงาน” เป็น “ยิงงานเข้าตัว”
2 มิ.ย.ไรเดอร์ไลน์แมน จ.สมุทรสงคราม ทวงถามข้อเรียกร้องที่ตึก T-one
8 มิ.ย.ไรเดอร์ลาล่ามูฟ ทวงคืนค่ารอบ 33 บาท บุก อาคารสาธรธานี ทวงถามข้อเรียกร้องที่เคยได้ยื่นถึงบริษัท
23 ต.ค.ไรเดอร์ Grab ชลบุรีนัดชุมนุมประท้วงจากนโยบายที่คลุมเครือของบริษัทแพลตฟอร์มที่มีการ “ปรับนโยบาย” โดยไม่ได้แจ้งให้ไรเดอร์ที่บริษัทมักอ้างว่าเป็น “พาร์ทเนอร์” โดยบริษัทมีการปรับค่ารอบไรเดอร์ลดลงโดยไม่ได้แจ้งให้ไรเดอร์ทราบมาก่อน และนโยบายการ ลด incentive
25 ต.ค. ตัวแทนไรเดอร์ Grab จ.ชลบุรีในนามกลุ่มไรเดอร์ภาคตะวันออก ร่วมกับ สหภาพไรเดอร์ – Freedom Rider Union เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดซ้ำอีกครั้ง หลังจากได้ชุมนุมและยื่นหนังสือครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา เพื่อขอให้มีการเจรจาปรับปรุงข้อตกลงในการทำงาน ร่วมกันระหว่างตัวแทนไรเดอร์และบริษัท Grab โดยมีกำหนดนัดเจรจาแต่บริษัทกลับปฏิเสธที่จะเข้าร่วมตามนัด
สำหรับข้อเรียกร้องของไรเดอร์ จ.ชลบุรี คือ 1) เพิ่มค่ารอบ หรือค่าตอบแทนส่งอาหาร กลับมาเป็น 30 บาทต่อรอบ, 2) เพิ่มค่าอินเซนทีฟ (Incentive) หรือเงินโบนัสสำหรับไรเดอร์ที่รับงานได้เท่ากับที่บริษัทกำหนด, และ 3) มีการปรับปรุงให้แอปฯ มีการกระจายงานให้ไรเดอร์อย่างทั่วถึง
#ปัญหาค่าตอบแทนต่อรอบไม่เป็นธรรม
ความเคลื่อนไหวของไรเดอร์ในหลายๆจังหวัดทั่วประเทศ ต่างแพลตฟอร์ม แต่กลับมีประเด็นเรียกร้องคล้ายกัน นั่นคือค่ารอบ หรือค่าตอบแทนที่ควรได้ในแต่ละรอบ
นั่นหมายความว่านโยบายของแต่ละแพลตฟอร์มที่เน้นการลดค่าตอบแทนในการวิ่งงานลง อาจจะมาจากจำนวนไรเดอร์ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
เพราะจุดเริ่มต้นของอาชีพไรเดอร์คืออาชีพเสริม เป็นอิสระ เมื่อไรเดอร์เป็นที่นิยมมากขึ้นด้วยคำชักชวนที่ว่าขยันมาก ได้มาก ไม่มีเวลาเข้างานอยากส่งตอนไหนก็ได้ จึงทำให้หลายคนออกจากงานประจำมาเป็นไรเดอร์
ไม่เพียงแค่คนทั่วไปเท่านั้นที่รู้สึกว่าไรเดอร์ทุกวันนี้มีเยอะมากจริงๆ
ไรเดอร์บางส่วนก็มีความเห็นว่าอยากให้มีการ “คุมกำเนิด”
#จำนวนไรเดอร์มากกว่าลูกค้า
ในแถลงการณ์ของ Grab ประเทศไทยหลังการชุมนุมของไรเดอร์แกร็บเมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา มีข้อความที่น่าสนใจตอนหนึ่ง ระบุว่า
“ที่ผ่านมา บริษัทฯ จึงได้ดำเนินการและประกาศใช้นโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับค่าตอบแทนของพาร์ตเนอร์คนขับด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงยังสามารถรักษาความสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ โดยคำนึงถึงปัจจัยรอบด้าน อาทิ จำนวนพาร์ตเนอร์คนขับในพื้นที่ จำนวนการสั่งอาหารของผู้ใช้บริการ ประสิทธิภาพในการให้บริการของพาร์ตเนอร์คนขับ เป็นต้น
โดยที่ผ่านมาระดับของอุปทานและอุปสงค์ (จำนวนพาร์ตเนอร์คนขับที่ให้บริการและจำนวนผู้ใช้บริการสั่งอาหาร) ได้ผันผวนไปตามสถานการณ์ของตลาด ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงก่อนและหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19”
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าข้อเรียกร้องไรเดอร์ทั่วไทยได้สะท้อนปัญหาเชิงลึกในระบบแพลตฟอร์ม ในขณะที่แถลงการณ์ Grab ก็ได้สะท้อนภาพรวมของโครงสร้างเช่นกัน
วิกฤตแพลตฟอร์มที่อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางธุรกิจนี้ ยังมีอีกหลายประเด็น
#โปรดอดใจรอติดตามตอนต่อไป