จัดมหกรรมแม่น้ำ “กก อิง โขง”กสม.หนุนชาวบ้านจัดการตัวเอง

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ที่มูลนิธิซี.ซี.เอฟ. อ.เมือง จ.เชียงราย ได้มีการจัดงานมหกรรมแม่น้ำและชุมชน “นิเวศ วิถี วัฒนธรรมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ลุ่มน้ำ กก อิง โขง” โดยภายในงานมีเวทีเสวนา นิทรรศการศิลปะ มหกรรมอาหารชุมชนและเวทีวิถีวัฒนธรรมแห่งสายน้ำกก อิง โขง ซึ่งมีผู้ร่วมงานกว่า 200 คน

นายสายัณน์ ข้ามหนึ่ง ผู้อำนวยการสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวรายงานว่างานครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นส่วนหนึ่งที่เครือข่ายชาวบ้านในลุ่มน้ำ กก อิง โขง ได้บอกเล่าเรื่องราว แม่น้ำและชุมชน วิถีชีวิต นิเวศวัฒนธรรมความสัมพันธ์ของผู้คนที่หลากหลาย ที่อยู่ภายใต้ภูมิทัศน์ลุ่มน้ำเดียวกัน สู่ความตระหนัก รับรู้ มีส่วนร่วมในการดูแลรักษา ร่วมจัดการ ร่วมปกป้อง และใช้ประโยชน์ให้เกิดความสมดุล

นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวเปิดงานว่าแม้ว่าการยอมรับความจำเป็นของการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับนโยบายนานาชาติจะมีมานานกว่า 2 ทศวรรษ แต่ในทางปฏิบัติการทำให้เศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนไปได้จริงตามแนวทางและทิศทางที่เป็นความยั่งยืนนี้มิได้เกิดขึ้นง่ายดายเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน “การบริหารจัดการน้ำ” ซึ่งแม้ว่าประเทศไทยจะพยายามดำเนินการโดยได้ตราพระราชบัญญัติน้ำแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการบูรณาการและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและทุกมิติ

นางปรีดากล่าวว่า การดำเนินการตามพระราชบัญญัติน้ำแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมายังพบข้อจำกัดมากมาย โดยในส่วนของ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิฯ หลังจากมีการบังคับใช้กฎหมายจำนวน 24 เรื่อง ซึ่ง กสม. ได้ดำเนินการตรวจสอบโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนให้ประชาชนได้รับความคุ้มครอง คำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ม.43และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม“จากที่ได้เห็นข้อมูลของชุมชนที่ลุกขึ้นมาจัดการทรัพยากรด้วยตัวเองเป็นเรื่องที่น่าชื่นชน และ กสม.พร้อมสนับสนุนเพราะเป็นโมเดลที่สำคัญ” นางปรีดา กล่าว

ทั้งนี้ในการเสวนาเรื่อง “แม่น้ำและชุมชน กก อิง โขง กับการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยพระมหานิคม ภิขมโน เจ้าอาวาสวัดภาวนานิมิต ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์แม่น้ำกกว่า แม่น้ำกกเป็นแม่น้ำสองแผ่นดินคือพม่าและไทย ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งปลาที่หายไปและธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลง ส่วนสำคัญเกิดจากการใช้สารเคมีมากขึ้นในส่วนของพระสงฆ์พยายามให้ข้อชี้แนะต่างๆเพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญ

นายเชาวลิต บุญทัน ชาวบ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น กล่าวว่า เห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำกกและโขง หมู่บ้านห้วยลึกเป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำโขง สุดท้ายก่อนเข้าประเทศลาว ชาวบ้านเคยมีวิถีชีวิตอยู่กับการทำประมง เคยมีเรือ 30 ลำ ชาวประมงเคยได้รายได้ต่อเดือน 1 หมื่นบาท จนสามารถส่งลูกเรียนจบ มีทั้งปลาหนังและปลาเกล็ด ปลาหนังของแม่น้ำโขงอร่อยมากเพราะว่ายทวนน้ำตลอดเวลา แต่ตอนนี้ปลาหนังแทบสูญพันธุ์เพราะการสร้างเขื่อนด้านบน และที่กำลังสร้างผลกระทบ คือโครงการเขื่อนปากแบง ที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านราว 90 กิโลเมตรนายเชาวลิตกล่าวว่า ชาวบ้านเคยามีรายได้จากไกวันละ 400-500 บาทแต่เดี๋ยวนี้แทบไม่ได้เพราะการขึ้นลงของแม่น้ำผิดปกติ เราเคยหาปลาเลี้ยงคนได้ทั้งจังหวัด แต่ตอนนี้แทบไม่มี และมีแต่ปลาเลี้ยง วิถีการล่าปลาบึกก็หายไปหมดแล้ว ตอนนี้ชาวบ้านต้องย้ายไปหางานทำกรุงเทพฯ

“แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสากลที่กว้างมาก การแก้ปัญหาที่บ้านห้วยลึกเราพยายามสร้างจิตสำนึกให้กับเด็กๆรุ่นใหม่ เพื่อให้เห็นอดีตที่พึ่งพาแม่น้ำ แต่เดี๋ยวนี้น้ำก็อาบไม่ได้ ขึ้นมาตาแดง ผมเคยข้ามไปเห็นสวนกล้วยจีนในลาวที่ใช้สารเคมีเข้มข้นมาก ไหลลงแม่น้ำจนปลาตายเกลื่อน ตอนนี้พวกเราพยายามทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา”นายเชาวลิต กล่าว นายเตชภัฒน์ มโนวงศ์ ตัวแทนสภาประชาชนลุ่มน้ำอิง กล่าวว่า สภาประชาชนลุ่มน้ำอิงไม่ใช่มีแค่ชาวบ้าน ยังมีเครือข่ายนักวิชาการ พระสงฆ์ สื่อมวลชน เพราะก่อนหน้านี้มีโครงการของภาครัฐเข้ามามากเช่น โครงการกก อิง น่าน โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีโครงการขุดลอกมากมาย ล้วนแล้วแต่ส่งกระทบต่อชาวบ้านและแม่น้ำอิง-โขง โดยชาวบ้านได้เอาวิถีวัฒนธรรมมาอนุรักษ์ธรรมชาติ เราเอาระบบเหมือนฝายดั้งเดิมมาใช้จัดสรรน้ำทำให้ชาวบ้านไม่ต้องแย่งน้ำกัน มีการจัดการป่าชุมชนและแก้ไขปัญหาพันธุ์ป่าจนนำไปสู่การสร้างข้อบัญญัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

โดยหลังจากการเสวนาแล้วทาง เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำกก อิง โขง ได้อ่านแถลงการณ์ โดยมีข้อความว่า แม่น้ำและชุมชน คือความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งของคนและธรรมชาติที่ตั้งอยู่บนฐานของวัฒนธรรมและความรู้ท้องถิ่นที่เป็นมาอย่างยาวนาน แม่น้ำเป็นเหมือนแม่ผู้หล่อเลี้ยงและปกป้องชุมชน เป็นผู้เชื่อมโยงชุมชนและฐานทรัพยากรดิน น้ำ ป่า รวมไปถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในแต่ละทรัพยากรที่เราเคารพบูชาเข้าด้วยกัน ในภาวะปัจจุบันแม่น้ำและธรรมชาติเกิดการขาดความสมดุลจากการเปลี่ยนแปลงที่มีมาอย่างต่อเนื่องโดยหลายสาเหต ทั้งการสร้างโครงการขนาดใหญ่ การบุกรุกป่าและลำน้ำ การเกษตรที่ขาดความสมดุล การใช้ประโยชน์ในป่าและแม่น้ำที่เกินความพอดี รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสาเหตเหล่านี้ล้วนมีต้นเหตมาจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชุมขนท้องถิ่นตลอดลำน้ำจึงได้ทำการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนที่ตั้งอยู่บนฐานวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง

เพื่อสร้างความสมดุลของระบบนิเวศและรักษาความสัมพันธ์ของแม่น้ำและชุมชน การอยู่ภายใต้นิเวศ วิถี และวัฒนธรรมเดียวกันในลุ่มน้ำเดียวกัน รวมทั้งการเผชิญปัญหาและการแก้ปัญหาร่วมกัน ทำให้เกิดการเชื่อมโยงของคนจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ และข้ามลุ่มน้ำเป็นเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำกก-อิง-โขง ในพื้นที่จังหวัดพะเยาและเชียงรายภายใต้พื้นที่ลุ่มน้ำโขงเหนือ
ด้วยตะหนักถึงความสำคัญของการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการพัฒนาไปอย่างมีความยั่งยืน เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำกก-อิง-โขง พร้อมทั้งภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และสื่อมวลชน ได้ร่วมกันจัดงานมหกรรมแม่น้ำและชุมชน “วิถี-นิเวศ-วัฒนธรรม กับการพัฒนาที่ยั่งยืน” ขึ้น เพื่อบอกเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนและแม่น้ำ บอกเล่าถึงปัญหานานาประการที่แม่น้ำและชุมชนกำลังเผชิญ และบอกเล่าถึงความพยายามของคนลุ่มน้ำในการแก้ไขปัญหาบนฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่นและความร่วมมือข้ามภาคส่วนว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมใจของคนลุ่มน้ำบนฐานของการเคารพรักซึ่งกันและกัน ที่จะนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่ยังยืนของแม่น้ำและชุมชน เป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือข้ามภาคส่วนที่จริงจังและจริงใจของทั้งภาคชุมขน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และสื่อมวลชน เพื่อประโยชน์สืบไปของคนรุ่นนี้และรุ่นหลังในลุ่มน้ำกก อิง และโขง