ลำปาง_กกพ.ลำปางนำสื่อมวลชนดูงาน ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง​ค่ายสุรสีห์​กาญจนบุรี

 

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 สำนักงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะจังหวัดลำปาง​ นำสื่อมวลชนจากจังหวัดลำปาง ร่วมงานสัมมนาโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อภาพลักษณ์ที่ดี ของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ระหว่างวันที่ 24-26 สิงหาคม 2565 โดยนางปาริชาติ ศรีเมือง หัวหน้าฝ่ายบริหารงานทั่วไป สำนักงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะจังหวัดลำปาง และแถลงสรุปผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะจังหวัดลำปางและแนวทางในการจัดทำแผนในปีงบประมาณ 2566 ต่อสื่อมวลชนทั้งสื่อทีวี, หนังสือพิมพ์,เพจสำนักข่าวออนไลน์และสื่อวิทยุ ณ ที่ห้องประชุมโรงแรมกนกกาญจน์ โฮเต็ล จังหวัดกาญจนบุรี

จากนั้น มีการแถลงบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะจังหวัดลำปางและแนวทางในการจัดทำแผนในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่สะดุดและมีรอยต่อ ของโครงการต่างๆ ของชุมชนซึ่งหาก ในปี 2567 หน่วยงาน มูลนิธิ สมาคมชุนชน ต้องการจะเสนอของบประมาณโครงการต่างๆ ขอให้เข้ามาสอบถามที่สำนักงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้เพื่อจะได้สะดวกในการจัดเตรียมเอกสาร การเขียนโครงการฯ ให้ตรงตามระเบียบ

ต่อจากนั้นในวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ได้นำสื่อมวลชนฯศึกษาดูงาน ณ​ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงมณฑลทหารบกที่ 17ค่ายสุรสีห์-อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์จังหวัดกาญจนบุรี โดยการอำนวยการของ พลตรีเรืองศักดิ์​ อรรคทิมากูล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 17 ได้มอบหมายให้ ร้อยตรีธรรม นาคทอง และจ่าสิบเอกกิติศักดิ์ พลอามาตย์ วิทยายากรประจำศูนย์เรียนรู้ ให้การต้อนรับและบรรยายพร้อมพาชมภายในศูนย์เรียนรู้ฯ ความเป็นมาของศูนย์การเรียนรู้ มณฑลทหารบกที่ 17 “จากผืนดินทิ้งรกร้างสู่การสร้างศูนย์การเรียนรู้ฯ”

หากย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน ใครเลยจะคิดว่า จากที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่เป็นได้แค่เพียงที่ทิ้งขยะของค่ายสุรสีห์จะถูกก่อรูปแปลงร่างกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ มณฑลทหารบกที่ 17 ที่ใครต่อใครเข้ามาเยี่ยมชมเฉกเช่นทุกวันนี้ จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อพลตรีณัฐ อินทรเจริญ ก้าวเข้ามารับตำแหน่งผู้บังคับการจังหวัดทหารบกกาญจนบุรีในเดือนตุลาคม 2549 ท่านผู้การได้เล็งเห็นว่าควรจะมีการปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวให้มีสภาพดีขึ้น จึงดำเนินการฝังกลบบ่อขยะในปี 2550 และคิดต่อว่าจะจัดการกับพื้นที่ตรงนี้ได้อย่างไรให้เกิดการใช้ประโยชน์พื้นที่ได้อย่างสูงสุด จึงมีแนวคิดที่จะทำเรื่องเกษตรเพื่อเป็นแหล่งอาหารและเป็นสวัสดิการสำหรับกำลังพล แต่ความคิดดังกล่าวต้องมาสะดุดลง เมื่อท่านผู้การต้องย้ายไปดำรงตำแหน่งที่จังหวัดเพชรบุรี ภายหลังจากดำรงตำแหน่งที่นี่ได้เพียงปีกว่า

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของศูนย์การเรียนรู้ฯได้เริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อพลตรีณัฐ กลับมาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการจังหวัดทหารบกกาญจนบุรีอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2553 ทำให้มีโอกาสกลับมาสานต่อเจตนารมณ์เดิมที่ตั้งใจไว้โดยมีพันเอกเยี่ยมชัย บุตรดาวงษ์ หรือ เสธ.เยี่ยม และร้อยเอกสมาน อ่วมทอน หรือ ผู้กองหมาน เป็นกำลังสำคัญในการบุกเบิกพัฒนาศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ โดยเริ่มทำการสำรวจพื้นที่อย่างจริงจังเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2553 และลงมือปฏิบัติการในวันที่ 4 ธันวาคม 2553 เพื่อพลิกฟื้นพื้นที่กว่า 350 ไร่ ของค่ายสุรสีห์ ให้กลายเป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงกำลังพล ในระหว่างนั้นได้ไปศึกษาดูงานจากโครงการในพระราชดำริตามที่ต่างๆ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ และปราชญ์ชาวบ้านอยู่เป็นระยะ เพื่อนำเอาองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาพื้นที่ฯ จากประสบการณ์ที่ได้ไปศึกษาดูงานในหลายพื้นที่ จึงเกิดแนวคิดที่พัฒนาให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรในองค์กรหรือจากภาคส่วนต่างๆ รวมถึงนักเรียนนักศึกษา ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ตามแนวทางพระราชปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ศูนย์การเรียนรู้ มณฑลทหารบกที่ 17 จึงได้ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”