เมื่อ 12 ก.ค. 65 เวลา 06.00 น. พล.ท.บุญยืน อินกว่าง ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการบริหารการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ เปิดเผยว่า กลางดึกที่ผ่านมา ภายหลังจากที่ ศูนย์ปฏิบัติการบริหารการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ ( ศป.บส.ชน.) ได้รับแจ้งข่าวสารว่าจะมีกลุ่มขบวนการลักลอบลำเลียงยาเสพติดจากพื้นที่ชายแดนเข้าสู่พื้นที่ตอนใน จึงจัดกำลัง เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวกลุ่มขบวนการในพื้นที่
จนกระทั่ง เมื่อวานนี้ช่วงเวลา 17.30 น. ตรวจพบรถยนต์ต้องสงสัย มาสด้า CX-5 ทะเบียน ขก – 3320 เชียงราย ขับมุ่งหน้าจาก อ.เมืองเชียงราย ไปยัง อ.เวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย จึงได้จัดกำลังติดตาม และสามารถจับกุม รถคันดังกล่าว จนถึงบริเวณ บ.ทุ่งก่อ ต.ทุ่งก่อ อ.เวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงรายพบว่า นางสาวเสาวลักษณ์ กมลาสน์บูชา อายุ 25 ปี ภูมิลำเนา บ้านเลขที่ 306 ม.11 ต.แม่เงิน อ.เชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นผู้ขับขี่ และมีผู้โดยสาร 1 คน โดยจากการตรวจสอบอย่างละเอียดภายในรถ พบว่า มียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) หีบห่อประทับตรา T1 สีน้ำเงิน เม็ดยาประทับตรา WY จำนวน 1,000,000 เม็ด บรรจุในกระเป๋าสีดำ จำนวน 6 กระเป๋า ปัจจุบันได้นำยาเสพติดทั้งหมดส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบ
ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการบริหารการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ กล่าวว่า สถานการณ์ยาเสพติดในห้วงที่ผ่านมา ในพื้นที่ตามแนวชายแดนด้าน สหภาพเมียนมาพบมีการลำเลียงยาเสพติด ครั้งละจำนวนมากหลักล้านเม็ด โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และ อ.แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย โดยการลำเลียงมีการใช้กองกำลังติดอาวุธคุ้มกัน จึงเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการลักลอบค้ายาเสพติดข้ามแม่น้ำโขงเข้าสู่เขตไทยตามแนวชายแดนด้าน สปป.ลาว ในพื้นที่ อ.เชียงแสน, อ.เชียงของ จังหวัดเชียงราย ยังคงมีอยู่ทั้งการข้ามแม่น้ำโขงและเดินเท้าผ่านช่องทางธรรมชาติ
ทั้งนี้คาดการณ์ว่า จากการเปิดพรมแดนของ สปป.ลาว ด้าน จังหวัดเชียงราย และ จังหวัดพะเยา อาจเป็นปัจจัยส่งผลทำให้การลักลอบลำเลียงยาเสพติดจาก สปป.ลาว เข้าสู่พื้นที่ภาคเหนือเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ชายแดนด้าน สหภาพเมียนมา เนื่องจากมีการปะทะและตรวจยึดยาเสพติด ได้เป็นจำนวนมาก อาจมีการลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้ามาทดแทน ที่สูญเสียไป ทำให้สถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามพื้นที่ตอนในฝ่ายความมั่นคง ยังคงเฝ้าระวังการลักลอบลำเลียงยาเสพติดผ่านรถบรรทุกที่ปะปนกับสินค้าทางการเกษตร, การรับ-ส่งสินค้าผ่านระบบโลจิสติกส์, รถโดยสารสาธารณะ และการใช้รถกู้ภัย รถพยาบาล ซึ่งเป็นช่องทางในการลำเลียงยาเสพติด