เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 นี้ นายกตัญญู ใจชื้น ผู้อำนวยการโครงการชลประทานแม่ฮ่องสอน ส่งเอกสารชี้แจงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชน เนื่องจากต้องกักตัวเพราะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงโควิด 19 ว่า ที่ผ่านมานั้นการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยโป่ง ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้จัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บห้วยโป่งโดยมีข้อตกลงในการบริหารจัดการน้ำตามที่กลุ่มกำหนดขึ้น.
ซึ่งโครงการชลประทานแม่ฮ่องสอนจะเป็นผู้ร่วมประชุม ให้ข้อมูลชี้แนะแนวทาง รวมถึงคำแนะนำในการบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ถึง 32 ปี ซึ่งในระยะของการบริหารจัดการเรื่องการใช้น้ำยังคงเป็นปกติและมีเพียงบางฤดูกาลที่อาจจะเกิดปริมาณกักเก็บล้นหรือเกินความจุอ่าง จนต้องมีการเข้าไปแก้ไขมาหลายครั้ง แต่เมื่อช่วงต้นปี 2564 เริ่มเกิดปัญหาหนักขึ้น เนื่องจากมีการตัดถนนไปยังบ้านหนองเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำแห่งนี้ ประกอบกับเจอปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าของเกษตรกรบางส่วน ทำให้มีตะกอนดินที่ไหลมากับน้ำต้นทางไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ทับถมกันเรื่อยมา กลายเป็นปัญหากับการปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำไปให้กับเกษตรกร ที่ต้องใช้น้ำเพื่อการเกษตรอีกหลายหมู่บ้าน ทางกลุ่มผู้ใช้น้ำและชลประทานแม่ฮ่องสอนได้จัดงบประมาณแก้ไขปัญหาและให้กลุ่มผู้ใช้น้ำดำเนินการใช้เครื่องดันน้ำแรงดันสูงทำการสวนท่อและไล่ตะกอนดินออกจากระบบท่อส่งมาเป็นระยะๆ.
ที่ผ่านมานั้นตั้งแต่ปี 2548 ที่เริ่มพบว่ามีการอุดตันของท่อส่งน้ำของอ่างเก็บน้ำเป็นครั้งแรก โครงการชลประทานแม่ฮ่องสอน ได้ดำเนินการสูบน้ำฉีดล้างดินตะกอนที่อยู่ในท่อ จนดินที่อยู่ในอ่าง บริเวณหน้าท่อออก ให้น้ำสามารถส่งต่อได้พร้อมได้แนะกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ถึงวิธีการไม่ให้ท่อตันอีก ด้วยการให้มีการเปิดน้ำเลี้ยงท่อตลอดเวลา ป้องกันการกลับมาอุดตันได้อีก
ต่อมาปี 2550 โครงการชลประทานแม่ฮ่องสอน ได้จ้างเหมาบริษัทเข้ามาทำการขุดลอกตะกอนดินหน้าอ่างเก็บน้ำโดยวิธีเรือขุด และมีการซ่อมแซม-แก้ไขปัญหาต่างๆ มาทุกปี.
จนกระทั่งปี 2564 กรมชลประทานได้มีโครงการซ่อมแซมโครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามข้อเสนอของเกษตรกรในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีงานขุดลอกตะกอนคลองดินส่งน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยโป่ง ทั้งนี้กลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยโป่งได้แจ้งกับทางโครงการว่าในการดำเนินการอัดน้ำเข้าท่อ ถ้าหากเกิดการอุดตันขึ้นอีก โครงการชลประทานแม่ฮ่องสอน ได้มีกิจกรรมและมีความร่วมมือกับกลุ่มผู้ใช้น้ำของอ่างเก็บน้ำน้ำห้วยโป่งมาโดยตลอดและไม่เคยประสบปัญหาในการใช้น้ำแต่อย่างใด และที่อ้างว่าไม่ได้ใช้น้ำมากว่า 3 ปี แล้ว ก็เป็นการกล่าวอ้างที่เกินความจริง ซึ่งโครงการชลประทานแม่ฮ่องสอน ได้เข้าไปประสานงานกับกลุ่มอยู่เสมอ และไม่ได้รับแจ้งจากกลุ่มในเรื่องท่อน้ำใช้ไม่ได้แต่อย่างใด คาดว่าคงจะใช้ไม่ได้เมื่อไม่นานมานี้ อีกทั้งที่กล่าวอ้างว่าติดพื้นที่ป่าก็เป็นการสอบถามของโครงการชลประทานแม่ฮ่องสอนเองว่า จะเสนอโครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำเข้ามาให้ เนื่องจากเห็นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นและการขุดลอกจะต้องมีดินที่ต้องขุดออกมา และจะมีที่ทิ้งดินให้กับโครงการหรือไม่ในบริเวณของบ้านห้วยโป่ง ซึ่งราษฎรได้กล่าวว่าที่มีเยอะ แต่โครงการชลประทานแม่ฮ่องสอน ได้แจ้งว่าอยากให้เป็นที่สาธารณะของหมู่บ้าน เพราะถ้าไปทิ้งในพื้นที่ป่าจะมีปัญหาได้ ซึ่งการจะนำดินไปทิ้งในเขตป่า โครงการฯ จะต้องทำการขออนุญาตกับกรมป่าไม้เสียก่อน จึงจะดำเนินการได้.
อนึ่ง โครงการชลประทานแม่ฮ่องสอน ยังได้ประชุมเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2564 ซึ่งในที่ประชุมวันนั้นผู้นำกลุ่มผู้ใช้น้ำได้มีเรื่องขอให้โครงการชลประทานแม่ฮ่องสอน ปรับปรุงระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยโป่งเพิ่มเติมจากของเดิม โดยโครงการได้บรรจุไว้ในแผนงานปี 2566 จะเป็นคลองคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกันกว้าง 1.60 เมตร สูง 0.60 เมตร มีความยาวทั้งสิ้น 200 เมตร วงเงินประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งไม่มีประเด็นในเรื่องอ่างเก็บน้ำไม่สามารถใช้การได้แต่อย่างใด ส่วนแนวทางการแก้ไขเร่งด่วน โครงการได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจและทำคงามเข้าใจกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ในเบื้องต้นจะเริ่มดำเนินการอัดน้ำเข้าท่อส่งน้ำ เพื่อล้างตะกอนในต้นเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ก่อน โดยจะดำเนินการให้ท่อสามารถส่งน้ำได้อีกครั้ง ภายในวันที่ 12 เมษายน 2565ระยะต่อไป โครงการได้ประสานงานกับส่วนบริหารเครื่องจักรกลที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอให้ตั้งแผนงานเข้าดำเนินการในปี 2565 นี้ หากสามารถดำเนินการได้ตามข้อสั่งการของอธิบดีกรมชลประทาน ซึ่งแต่เดิมมีแผนงานที่จะดำเนินการอยู่แล้วในปี 2566 ที่จะขยับเวลาการดำเนินการให้เร็วขึ้นกว่าเดิม เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น.
ในขณะที่นายนพเรียง วันเต ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 บ้านห้วยโป่งและนายอำไพ ศิริวรินทร์ ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำห้วยโป่ง ได้ร่วมกันเปิดเผยว่า อ่างเก็บน้ำป้วยโป่งรับน้ำจากลำห้วยโป่งและพื้นที่ของลำห้วยแม่สะมาดเข้าสู่อ่าง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีความยาวสันเขื่อน 102 เมตร ความสูงของตัวเขื่อน 17 เมตร ความลึกของระดับน้ำที่กักเก็บ 12.50 เมตรและอ่างมีความจุ 436,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อจ่ายน้ำไปยังพื้นที่เกษตรกรบ้านห้วยโป่ง 350 ไร่ และส่งน้ำไปยังเกษตรกรอีก 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านป่าลาน,บ้านทุ่งมะกอก และบ้านไม้ฮุง ต.ห้วยโป่ง เพื่อให้เกษตรกรทำการเกษตรอีกกว่า 371 ครอบครัว แต่ในปัจจุบันนี้กลับพบว่าปริมาณตะกอนดินนั้นทับถมกันเป็นจำนวนมาก จนไม่สามารถใช้เครื่องปั๊มน้ำแรงดันสูงเข้ามาล้างตะกอนในท่อได้แบบเดิม จึงอยากจะให้ทางชลประทานได้เร่งเข้ามาช่วยเหลือหรือผลักดันโครงการขุดลอก แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้เร็วขึ้น.
เพราะปัจจุบันเกษตรกรเองต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมันมาสูบน้ำหล่อเลี้ยงในแปลงพืชไร่เองในราคาที่สูงมาก ส่วนเรื่องของปัญหาเศษดินจากการขุดลอกที่หลายฝ่ายวิตกว่าจะน้ำไปทิ้งที่ไหนหรืออาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิด พรบ.ป่าสงวนแห่งชาตินั้น ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะชาวบ้านต่างเห็นชอบร่วมกันที่จะให้นำตะกอนดินที่ขุดลอกออกมานั้นไปทิ้งที่ในพื้นที่ของวัดและสวนสาธารณะได้ทันที ส่วนเรื่องของน้ำเพื่อการบริโภคทางชาวบ้านได้ใช้วิธีการต่อท่อประปาภูเขาไปดึงน้ำมาเลี้ยงระบบประปาภูเขาของหมู่บ้านได้เอง แม้ว่าจะต้องวางท่อขนาด 3 นิ้ว ยาวกว่า 5 กิโลเมตรก็ตาม แต่ก็สามารถใช้กับระบบประปาได้ แม้จะมีปัญหาบ้างในช่วงหน้าแล้ง ที่อาจจะมีน้ำน้อยหรือเจอกับปัญหาท่อน้ำถูกไฟป่าเผาไหม้ก็ยังสามารถดูแลกันได้ แต่ปัญหาหลัก ๆ คือน้ำในพื้นที่การเกษตรเท่านั้นเองที่ต้องออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานเข้ามาดูแลในเรื่องนี้เป็นการด่วนดังกล่าว.
cr.วิรัตน์ นันทะพรพิบูลย์ จ.แม่ฮ่องสอน.