วันที่ 2 ตุลาคม 2567 ชาวบ้านบ้านป่าตันเหนือ หมู่ที่ 5 และบ้านป่าตันใต้หมู่ที่ 6 ตำบลป่าตัน อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ได้ ได้ร่วมกันจัดงานสืบสานประเพณีแห่ก๋วยสลากหลวง หรือขบวนสลากภัตขนาดใหญ่ หรือที่ตามท้องถิ่นเรียกว่า ตานก๋วยสลาก โดยชาวบ้านได้ร่วมใจกันทำก๋วยสลากหลวง หรือสลากภัตใบยักษ์ โดยวัสดุที่ใช้ทำมาจากวัสดุธรรมชาติเกือบทั้งหมดที่หาได้ในท้องถิ่น นำมาตกแต่ง เข้าร่วมขบวนแห่ถึง 29 ขบวน โดยตั้งขบวนเริ่มต้นบริเวณถนนเชื่อมต่อระหว่างบ้านป่าตัน และบ้านสบทะ ต.ป่าตัน อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ยาวกว่า 2 กิโลเมตร ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปยังวัดป่าตันหลวง ต.ป่าตัน อ.แม่ทะ เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดงานประเพณีสืบสานตานสลากภัต วัดป่าตันหลวง ประจำปี 2567
โดยมีพระครูโกสล อรัญญกิจ รองเจ้าคณะอำเภอแม่ทะ เจ้าอาวาสวัดป่าตันหลวง ประธานฝ่ายสงฆ์ มีนายยูนิตย์ เชื้อคำลือ นายกเทศมนตรีป่าตันนาครัว ประธานฝ่ายฆราวาส เป็นประธานเปิดงาน และร่วมปล่อยขบวน ซึ่งการจัดงานครั้งนี้เป็นการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านในพื้นที่ รวมไปถึงเทศบาลตำบลป่าตันนาครัวที่ได้สนับสนุนรางวัลการประกวดแก่ขบวนสลากภัตที่เข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ โดยบรรยากาศทั่วไปค่อนข้างคึกคักเป็นอย่างมาก มีเด็กนักเรียนและเยาวชนในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อที่จะร่วมสืบสวนประเพณีที่ดีงามอีกด้วย
และปีนี้ในขบวนยังอินเทรน มีรูปปั้นหมูเด้ง หรือฮิปโปแคระ กำลังเป็นที่ชื่นชอบของคนไทยและชาวต่างชาติ ร่วมขบวนอีกด้วย และยังพบว่าสลากที่ใช้แจกจ่ายแก่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร นั้น ยังอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่นล้านนาลงไปในใบลานสลากทุกใบ เพื่อที่จะให้ภาษาท้องถิ่นลานนายังคงอยู่ยังยืนต่อไป นับว่าเป็นการสืบสานประเพณีท้องถิ่นและภาษาท้องถานลานนาที่ดีงามอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง
ก๋วยสลากหลวง หรือ สลากภัตใบใหญ่ ที่จัดทำขึ้น ล้วนทำมาจากวัสดุธรรมชาติ ด้วยการนำไม้ไผ่มาสานเป็นเข่งขนาดใหญ่ ห่อหุ้มด้วยใบไม้ใบตองรวบปลายด้านบนเข้าด้วยกัน ทำการตกแต่งประดับประดาสลากภัตหลวงให้สวยงามด้วยดอกไม้ สิ่งของอันเป็นมงคล รวมทั้งสิ่งของที่ใช้ในการทำบุญ เพื่อเข้าร่วมพิธีตานก๋วยสลากหลวงฯ เพื่อเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่เทพยดา บรรพบุรุษและญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ รวมถึงเพื่อสะสมผลบุญไว้ให้แก่ตนเองในภายภาคหน้า ซึ่งบรรยากาศแบบนี้จะมีให้เห็นเป็นประจำทุกปี ในช่วงเทศกาลก่อนออกพรรษา โดยชาวไทยล้านนาในภาคเหนือได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน ที่เรียกว่า “ประเพณีทำบุญสลากภัต” หรือที่ชาวไทยในล้านนาเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นว่า “ตานก๋วยสลาก” “กิ๋นก๋วยสลาก” หรือบางแห่งเรียกว่า “กิ๋นสลาก”