มวลน้ำมหาศาลกำลังไหลไปที่ไหน จะส่งผลกระทบอย่างหนักในพื้นที่ใดหรือไม่ ?

 

จากสถานการณ์น้ำท่วมหนักในจังหวัดเชียงราย กับมวลน้ำมหาศาลที่เกิดขึ้นทั้งอำเภอแม่สาย และอำเภอเมืองเชียงราย เมื่อระดับน้ำลดลงจึงเกิดข้อกังวลขึ้นกับประชาชนในจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างมาก ว่ามวลน้ำมหาวิปโยคของเชียงรายครั้งนี้กำลังไหลไปในพื้นที่ไหน ?

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจถึงต้นตอของมวลน้ำมหาศาลทั้ง 2 พื้นที่ของจังหวัดเชียงรายกันก่อนนะครับ คืออุทกภัยจากน้ำป่าไหลหลากในเขตพื้นที่อำเภอแม่สายนั้นสาเหตุมาจากปริมาณน้ำจากฝนที่ตกสะสมบนเทือกเขาขนาดใหญ่ในรัฐฉานในประเทศเมียนมา และบริเวณสันปันน้ำทำให้แม่สายต้องรับศึกหนักเป็นพื้นที่รับมวลน้ำมหาศาลจากหุบเขาทั้งหมดลงมา และมวลจำนวนมากในเมียนมา ยังไหลมาเติมใน “แม่สาย -แม่น้ำรวก” แม่น้ำกั้นพรมแดนระหว่างไทย-เมียนมา ดังนั้น อ.แม่สาย ที่มีการขยายตัวของเมืองทำให้เป็นการปิดกั้นการไหลของลำน้ำนั้น จึงยิ่งทำให้อุทกภัยในแม่สายในครั้งนี้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก หลังน้ำลดระดับลงในพื้นที่ทิศทางของมวลน้ำก้อนนี้ก็จะไหลไปตามแม่น้ำสาย ไปยังแม่น้ำรวก และไหลไปบรรจบลงที่แม่น้ำโขง ที่จุดสบรวก

ส่วนพื้นที่น้ำท่วมพื้นที่ต่อมาคือตัวเมืองเชียงรายนั้น เป็นคนละมวลน้ำกันกับที่อำเภอแม่สาย โดยที่สถานการณ์น้ำท่วมในตัวเมืองเชียงรายเกิดจากการเอ่อล้นจากแม่น้ำกก  โดยเชียงรายมีเส้นทางน้ำหลักคือ ‘แม่น้ำกก’ ซึ่งมีต้นกำเนิดจากดอยหลวงเชียงดาวในจังหวัดเชียงใหม่ แม่น้ำสายนี้ไหลผ่านอำเภอฝางของเชียงใหม่ ก่อนจะเข้าสู่จังหวัดเชียงราย ผ่านอำเภอแม่สรวย อำเภอเมืองเชียงราย และอำเภอเชียงแสน รวมระยะทางประมาณ 285 กิโลเมตร จากนั้นแม่น้ำกกจะไหลบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บ้านสบกก อำเภอเชียงแสน ซึ่งเป็นจุดรวมมวลน้ำขนาดใหญ่ที่ไหลมาจากตอนเหนือของประเทศ

แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติที่มีต้นกำเนิดไกลถึงเทือกเขาหิมาลัย บนที่ราบสูงทิเบต เกิดจากการละลายของหิมะและน้ำแข็ง มีความยาวทั้งสิ้น 4,909 กิโลเมตร โดยไหลผ่านประเทศจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ก่อนจะออกสู่ทะเลจีนใต้ สำหรับประเทศไทย แม่น้ำโขงเริ่มไหลผ่านที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำกกไหลมาบรรจบพอดี

จากจุดบรรจบนี้ แม่น้ำโขงจะไหลไปทางทิศตะวันออก ผ่านอำเภอเชียงของ ก่อนออกจากจังหวัดเชียงรายที่แก่งผาได อำเภอเวียงแก่น รวมระยะทางที่ไหลผ่านจังหวัดเชียงรายประมาณ 180 กิโลเมตร จากนั้นจะไหลเข้าสู่ประเทศลาว ก่อนจะวกกลับเข้ามาเป็นพรมแดนระหว่างไทย-ลาวอีกครั้งที่จังหวัดเลย และไหลผ่านจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รวมระยะทางประมาณ 800 กิโลเมตร

เมื่อพิจารณาเส้นทางการไหลของน้ำดังกล่าว จะเห็นได้ว่าโอกาสที่มวลน้ำจากเหตุการณ์เชียงรายในครั้งนี้จะกลับวนเข้าไทยและได้รับผลกระทบโดยตรงจากน้ำท่วมในเชียงรายในครั้งนี้มี ‘น้อยมาก’ เนื่องจากมวลน้ำส่วนใหญ่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขงและออกสู่ทะเลทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ไม่ได้ไหลลงมาสู่จังหวัดโดยรอบหรือลงไปสู่ภาคกลางโดยตรงแต่อย่างใด

ในท้ายที่สุด เหตุการณ์น้ำท่วมในเชียงรายเป็นเครื่องเตือนใจให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติ การติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และการร่วมมือกันในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค จะช่วยให้ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านสามารถรับมือกับความท้าทายด้านการจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต.