ผอ.วิทยาลัยเทคนิคนครลำปางชี้แจงเหตุ ไม่ต่อสัญญาครูและเจ้าหน้าที่ 42 คน และปิดสาขาการเรียน หลังถูกร้องเรียน 

 

จากกรณีที่ได้มีนักศึกษาโพสต์ร้องเรียนขอให้ย้าย ผอ.วิทยาลัยเทคนิคนครลำปาง

ดร.สุมาวดี พวงจันทร์ โดยระบุว่า เข้ามาเป็น ผอ.ก็สั่งเลิกจ้างครูและเจ้าหน้าที่เกือบหมด

พอจะเปิดเทอมแล้ว มาบอกให้ย้ายสาขา คิดแค่กำไรไม่นึกถึงนักศึกษา อยากขอความเป็นธรรมในเรื่องนี้

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ข้อมูลจากลุ่มครูอัตราจ้างที่ไม่ได้รับการต่อสัญญา ร่วมกันเปิดเผยว่า ตั้งแต่ ผอ.ย้ายมาวันที่ 1 ต.ค.66 ได้มีการประชุมเพียงครั้งเดียว เพื่อแจ้งว่าปรับลดค่าจ้างเหลือตามฐานเงินเดือนเดิม ครูอัตราจ้างได้ 8,340 บาท ส่วนเจ้าหน้าที่เหลือ 7,670 บาท ทางครูและเจ้าหน้าที่ก็ยินยอม ซึ่งไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องการไม่ต่อสัญญาจ้างใดๆทั้งสิ้น

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ข้อมูลจากลุ่มครูอัตราจ้างที่ไม่ได้รับการต่อสัญญา ร่วมกันเปิดเผยว่า ตั้งแต่ ผอ.ย้ายมาวันที่ 1 ต.ค.66 ได้มีการประชุมเพียงครั้งเดียว เพื่อแจ้งว่าปรับลดค่าจ้างเหลือตามฐานเงินเดือนเดิม ครูอัตราจ้างได้ 8,340 บาท ส่วนเจ้าหน้าที่เหลือ 7,670 บาท ทางครูและเจ้าหน้าที่ก็ยินยอม ซึ่งไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องการไม่ต่อสัญญาจ้างใดๆทั้งสิ้น

ต่อมาวันที่ 27 ก.พ.67 ช่วงเช้าได้ประชุมแจ้งว่าจะไม่ต่อสัญญา พอตอนเย็นก็ยื่นซองเอกสารแจ้งเรื่องการไม่ต่อสัญญาให้แก่ ครูอัตราจ้าง 23 คน เจ้าหน้าที่ 19 คน รวม 42 คน โดยก่อนหน้านั้นก็ให้เจ้าหน้าที่และครูส่งแฟ้มประเมิน เพื่อให้ทางผู้บริหารต่อสัญญา ถ้าคิดมาก่อนแล้วว่าจะไม่ต่อสัญญา จะให้ส่งแฟ้มประเมินไปเพื่ออะไร แต่ละคนทำงานมานานเป็น 20 ปี กลับไม่มีงานทำ

หลังจากที่ทราบว่าไม่ได้ต่อสัญญาจ้าง ทางกลุ่มครูและเจ้าหน้าที่ 42 คน ก็ได้ยื่นหนังสือไปยังรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ว่าพวกเราได้รับผลกระทบอะไรบ้าง โดยได้ไปรอยื่นหนังสือที่สนามบินลำปาง ได้มีนิติกรมารับหนังสือแทน และให้ไปรวบรวมเอกสารเพิ่ม เมื่อรวบรวมส่งไปก็ไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย กระทั่งเปิดเทอมมาได้ข่าวว่ามีการปิดสาขา ทำให้นักศึกษาได้รับผลกระทบอีก

ในส่วนของนักศึกษา ปวส.1 สาขาการตลาด และ สาขาบัญชี เล่าว่า วันที่ 9 พ.ค.67 คุณครูโทรมาตอนเช้าบอกว่าทาง ผอ.เรียกคุยว่าจะมีการยุบสาขา จึงไปพร้อมกับผู้ปกครอง โดย ผอ.ให้เหตุผลว่าครูไม่พอสอน เพราะชั่วโมงสอนเยอะ นักศึกษามีไม่ครบ 15 คนตามที่กำหนด แต่ทางวิทยาลัยก็ไม่ได้แจ้งล่วงหน้าว่าถ้านักศึกษาไม่ครบจะยุบสาขา ซึ่งสาขาบัญชีมีนักศึกษาลงทะเบียน 10 คน สาขาการตลาด 6 คน ทางผู้ปกครองกับนักศึกษาก็ไม่ยอมจะขอให้ทางวิทยาลัยเปิดสาขา แต่ตอนแรกทางวิทยาลัยยืนยันว่าจะไม่เปิด ให้นักเรียนย้ายสาขา หรือไปเรียนที่อื่นแทนโดยจะมีรถรับส่งให้ ซึ่งได้มีการเจรจาพูดคุยกันจนกระทั่งทางครูผู้สอนยินยอมที่จะไม่รับค่าการสอนเกินภาระ ทางวิทยาลัยจึงยินยอมเปิดสาขาบัญชีและสาขาการตลาดให้

ด้าน ดร. สุมาวดี พวงจันทร์ ผอ.วิทยาลัยเทคนิคนครลำปาง ชี้แจงว่า เหตุที่ไม่สามารถต่อสัญญาบุคลากรได้ เนื่องจาก นักศึกษาก็ลดลง ทางวิทยาลัยได้รับเงินอุดหนุนจากส่วนกลางลดลง ทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการจ่ายค่าจ้างครูอัตราจ้างและเจ้าหน้าที่

ขณะที่ปีการศึกษา 2567 มีนักศึกษา 631 คน แต่ครูมีจำนวนเท่าเดิมคือ 80 คน เมื่อนักศึกษาลดลงก็ได้รับเงินอุดหนุนรายหัวลดลงไปด้วย วิทยาลัยจึงไม่มีรายได้เพียงพอที่จะจ่ายค่าจ้าง จึงไม่สามารถที่จะต่อสัญญาให้แก่ครูอัตราจ้าง 23 คน และเจ้าหน้าที่ 19 คน รวม 42 คนได้ ซึ่งหมดสัญญาไปเมื่อวันที่ 31 มี.ค.67 ที่ผ่านมา

นอกจากนั้นทางวิทยาลัยฯ ยังมีภาระหนี้สินที่ต้องแบกรับอยู่จริงรวมกันประมาณ 14 ล้านบาทเศษ ปี 67 มีหนี้สินอยู่ประมาณ 7.4 ล้านบาท มีค้างจ่ายค่าไฟตั้งแต่เดือน พ.ค.66 – ม.ค.67 อยู่กว่า 2 ล้านบาท อีกทั้งยังมีค่าสอนเกินภาระของครู ที่ยังค้างจ่ายในปี 67 อยู่อีกกว่า 2 ล้านบาท ฯลฯ ก่อนหน้านี้ได้เชิญครู และเจ้าหน้าที่มาประชุมพูดคุยกันแล้วว่า วิทยาลัยประสบปัญหาหนี้สิน ไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ้างต่อ ซึ่งทุกคนได้รับทราบ ในการประชุมไม่ได้มีการทักท้วงหรือยื่นข้อเสนอใดๆ ทั้งนี้ ทางวิทยาลัยยังได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เมื่อวันที่ 20 มี.ค.67 หารือเรื่องที่มีการเลิกจ้าง ว่ามีนโยบายอย่างไรที่จะจ้าง 42 คนนี้ได้บ้าง จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับการตอบกลับ

สำหรับกรณีที่ยุบสาขา สัดส่วนนักเรียนต่อห้องเป็นไปตามมาตรฐาน ที่อาชีวศึกษาไว้ ครู 1 คนต่อเด็ก 30 คน ถึงจะคุ้มทุนในการจัดการศึกษา เมื่อเด็กเรียนน้อยเงินอุดหนุนรายหัวน้อยลง ก็จะไปสัมพันธ์กับเงินที่จะจ้างบุคลากรด้วย ส่วนสาขาบัญชีและสาขาการตลาด มีการประชุมกัน และตกลงกันได้ว่าครูจะไม่ค่าสอนเกินภาระการสอน จึงได้เปิดสาขาให้เช่นเดิม