อบจ.ลำปางพัฒนาศักยภาพเด็ก เยาวชน บุคลากรทางการศึกษา สร้างองค์ความรู้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ รุ่นที่ 2 เพื่อต่อยอดการศึกษาและความพร้อมสู่สังคมดิจิทัล

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00 น. นางสาวตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร นายก อบจ.ลำปาง มอบหมายให้นายสมพร นาคพิทักษ์ ที่ปรึกษานายกอบจ.ลำปาง เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาสร้างองค์ความรู้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ รุ่นที่ 2 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยนายบุญส่ง ศรีกอนติ ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม กล่าวรายงาน
 
พระครูวิบูลปริยัตยากร ผู้อำนวยการโรงเรียนวิสุทธิ์วิทยากร (วัดบุญวาทย์วิหาร) นายปรัชญา โกมณี ผู้จัดการสาขาภาคเหนือตอนบน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล นายโชติช่วงชัยอนันต์ ดาบโสมศรี ผอ.รร.วอแก้ววิทยา ผู้บริหาร คณะครูและนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 20 แห่ง จำนวน 100 คน ร่วมพิธีเปิด
ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ ซึ่งในอนาคตระยะยาวจะเกิดการปฏิวัติภาคอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ โดยเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งอนาคตที่ได้รับความสนใจสูงในขณะนี้ คือ “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI” ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากในวงการศึกษา ธุรกิจ และอุตสาหกรรม จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวัน
องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สู่การนำไปปรับใช้ในด้านต่างๆ จึงได้จัดโครงการพัฒนาสร้างองค์ความรู้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ รุ่นที่ 2 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นขึ้น ระยะเวลาการอบรม 4 วัน คือ วันที่ 17 – 18 กุมภาพันธ์ 2567 และวันที่ 9 – 10 มีนาคม 2567
เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพเด็ก เยาวชน บุคลากรทางการศึกษา ในการคิดโจทย์ แก้ปัญหาโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ สามารถนำไปใช้ต่อยอดเพื่อการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นได้
และเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ เด็ก และเยาวชนจังหวัดลำปางในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองด้านเทคโนโลยีและทักษะแห่งอนาคตเท่าทันการเปลี่ยนแปลง มีความพร้อมเข้าสู่สังคมดิจิทัล
โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์วิษณุ ช้างเนียม และทีมวิทยากรจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปางร่วมถ่ายทอดความรู้ ประกอบด้วย
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และความแตกต่างระหว่างเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์
แนะนำตัวหุ่นยนต์ ประกอบตัวหุ่นยนต์ Raspberry Pi Pico W
ลงโปรแกรม/แนะนำโปรแกรมสำหรับพัฒนาโปรแกรมแบบล็อกภาษา Python
พัฒนาโปรแกรมแบบบล็อกภาษา Python (พื้นฐาน) เพื่อควบคุมอุปกรณ์เบื้องต้น
พัฒนาโปรแกรมแบบบล็อกภาษา Python (พื้นฐาน) เพื่อควบคุมหุ่นยนต์เดินตามเส้น
ทดสอบการพัฒนาโปรแกรมหุ่นยนต์เดินตามเส้น