“Chiang Rai Fashion to The World 1st Designers Competition” ชูลวดลายผ้าจากกลุ่มชาติพันธุ์ สู่ระดับโลก

 

เวลา 17.00 น.วันที่ 2 ก.ย.66 ที่ด่านพรมถาวรแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สาย จ.เชียงราย น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นประธานในการเปิดการแข่งขันเชียงรายแฟนชั่นสู่การออกแบบระดับโลกครั้งที่ 1 “Chiang Rai Fashion to The World 1st Designers Competition” เป็นการจัดเดินแฟนชั่นบนถนนหน้าด่านพรมแดนหรือ Fashion on the Road โดยมีนายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย สมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จ.เชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

โดยการจัดงานครั้งนี้มีดีไซเนอร์จากทั่วประเทศไทยจำนวน 73 คนนำผลงานและนางแบบทำการเดินแสดงด้วยเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่กำหนดให้ใช้ลวดลายผ้าจากกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งดีไซเนอร์สามารถออกแบบในการประกวดและจัดแสดงครั้งนี้กว่า 92 ชุด

ซึ่งการเดินแฟชั่นเริ่มต้นด้วยการเดินแฟนจาก 10 กลุ่มชาติพันธุ์ อาข่า ม้ง กะเหรี่ยง อิ้วเมี่ยน ไตหย่า ไทใหญ่ ยูนนาน ไทลื้อ ลั้วะ และลาหู่ ด้วยนางแบบจำนวน 20 นางแบบจาก YOURS Thailand จากนั้นนางแบบทั้ง 92 คน ได้สวมชุดที่ใช้ในการแข่งขันเดินโชว์ ท่ามกลางความสนใจของนักท่องเที่ยวและประชาชนทั้งชาวไทยและเมียนมา ที่มาชมความงดงามของชุดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หลังเสร็จสิ้นการเดินแบบแล้วผู้คนให้ความสนใจถ่ายภาพร่วมกับนางแบบด้วย

สำหรับการประกวดชุดแฟชั่นทั้ง 92 คน ชุดราตรีชื่อ “โบตั๋น” จากการออกแบบของ น.ส.วิสา แสนสุขยิ่งนัก วิชาคหกรรม สาขาวิชาแฟชั่นและสิ่งทอ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 โดย เป็นชุดกระโปรงยาวลักษณะคล้ายชุดกี่เผ้าของจีนแต่มีลวดลายผ้าลายปักของกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยนบนชุดราตรีอย่างลงตัว รางวัลที่ 2 มาจากดีไซเนอร์จากกรุงเทพฯ โดยเป็นชุดราตรีธรรมชาติและภูมิปัญญา นอกจากนี้ภายในบริเวณงานยังจัดให้มีร้านค้าเกี่ยวกับเสื้อผ้าแฟชั่นผ้าต่างๆ กว่า 100 ร้าน ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวหน้าด่านพรมแดน อ.แม่สาย อย่างคึกคัก

น.ส.ฐาปนีย์ กล่าวว่า ปัจจุบันทุกประเทศต่างพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวหลังวิกฤติไวรัสโควิด-19 สำหรับประเทศไทยก็พยายามหาจุดแข็งเพื่อเป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและทั่วโลกด้วยเช่นกัน ซึ่งก็พบว่าจุดแข็งหนึ่งคือซอฟเพาเวอร์เรื่องอาหาร แฟชั่น กิจกรรม faith (ศรัทธา) ซึ่งภาคเหนือถือว่าส่วนหนึ่งคือมีลวดลายผ้าปักจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ดังนั้นทาง ททท.จึงได้สนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ขึ้นเพื่อให้เกิดการต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวตลอดทั้งปีหรือ All year รวมทั้งยังส่งเสริมให้เกิดรายได้ไปสู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

ด้านนางนงเยาว์ เนตรประสิทธ์ นายกสมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จ.เชียงราย กล่าวว่า กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีรวมกันกว่า 35 ชาติพันธุ์ ได้มีการออกแบบลวดลายผ้าปักด้วยเทคนิค ลวดลายและสีสันแตกต่างกันซึ่งล้วนมีความวิจิตรงดงาม ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการจัด “Fashion on the Road” เป็นครั้งแรกเพื่อเฟ้นหาสุดยอดดีไซเนอร์และชุดที่งดงาม โดยคาดหวังจะพัฒนาการออกแบบไปสู่ระดับประเทศและระดับนานาชาติต่อไป นอกจากนี้ยังสร้างรายได้ให้คนทุกระดับตั้งแต่กลุ่มชาติพันธุ์ที่ออกแบบลวดลายผ้าปัก ผู้เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และผู้จัดจำหน่ายในแต่ละขั้น หรือตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำอีกด้วย.