แม่ฮ่องสอน ชาวเภอแม่สะเรียง พร้อมใจคัดค้านไม่เอาโรงโม่หิน หวั่นส่งผลกระทบต่อชาวบ้านและชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติเป็นวงกว้าง

 

วันนี้ (17 มิ.ย. 2566) ที่ ศาลาอเนกประสงค์บ้านทุ่งพร้าว อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประชาชนบ้านทุ่งพร้าวเข้าร่วมประชุมประจำเดือนมิถุนายน 2566 มีวาระที่น่าสนใจคือ การร่วมกันแสดงเจตจำนงคัดค้านการออกประทานบัตรโรงโม่หิน ของ บริษัทเชียงใหม่โรงโม่หิน จำกัด โดยมี นายอนันต์ ชิงชัย กำนันตำบลแม่สะเรียง เป็นประธานในการประชุม มี นายวิชัย กองแก้ว นายกเทศมนตรีตำบลเมืองยวมใต้ นายคำปัน คำประวัน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภอแม่สะเรียง นายเรืองศักดิ์ ขาวสะอาด ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยาที่ 33 (บ้านทุ่งพร้าว) และนายทองทิพย์ แก้วใส ตัวแทนผู้คัดค้านไม่เอาโรงโม่หินอำเภอแม่สะเรียง เข้าร่วมประชุม

ภายหลังจากที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เรื่อง ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ ของ บริษัทเชียงใหม่โรงโม่หิน จำกัด ได้ประกาศให้ทราบทั่วกัน ตามประกาศ ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น ชาวบ้านบ้านทุ่งพร้าวเห็นว่า หากมีการทำเหมืองแร่ขึ้นมา จะส่งผลกระทบต่ออำเภอแม่สะเรียงเป็นวงกว้าง ไม่เพียงแต่เฉพาะ ในพื้นที่ 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านโป่งดอยช้าง บ้านท่าข้ามใต้ ต.บ้านกาศ และบ้านแพะ ต.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เท่านั้น หมู่บ้านอื่น ๆ ในอำเภอแม่สะเรียง ไม่ว่าจะเป็นจะเป็นสถานศึกษา บ้าน วัด คริสตจักร และโรงเรียนก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย

ที่ประชุมฯ จึงแสดงเจตจำนงร่วมกันยกมือคัดค้านการออกประทานบัตรโรงโม่หิน ของ บริษัทเชียงใหม่โรงโม่หิน จำกัด ประชาชนต่างตระหนักดีว่าจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดีหากมีการทำเหมืองแร่ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากรป่าไม้ แหล่งน้ำ เส้นทางการคมนาคม มลภาวะทางเสียง มลภาวะทางอากาศจากฝุ่นละออง จากการระเบิดแร่และการโม่หิน ซึ่งมลภาวะครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 20 กิโลเมตร

สำหรับพื้นที่การขอประทานบัตร ตามใบอนุญาตขอทำเหมืองแร่อยู่ในพื้นที่เขตรอยต่อระหว่าง บ้านโป่งดอยช้าง ต.บ้านกาศ และบ้านแพะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน บนเนื้อที่ 132-0-97 ไร่ เป็นพื้นที่ขอประทานบัตร 1/2565 ชนิดแร่หินอุตสาหกรรม ชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้าง) ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 ทางบริษัทได้ลงพื้นที่ บ้านโป่งดอยช้าง เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อห่วงใยชาวบ้านในรัศมีการดำเนินการของเหมืองแร่ในรัศมี 500 เมตร โดยทีมงานวิศวกรเมืองแร่ของบริษัทฯ โดยระบุว่าพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ไม่มีแหล่งโบราณคดี หรือแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2 และ 3

วิรัตน์ – รายงาน