วันนี้ (19 เมษายน 2566) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงภายในตามแนวชายแดน โดยการให้ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับสถานะบุคคลให้แก่ผู้ประสบปัญหาด้านสถานะบุคคล ในระหว่างวันที่ 19-20 เมษายน 2566 โดยมี นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดตามนโยบายของรัฐบาลและจังหวัดแม่ฮ่องสอน และดำเนินการกำหนดสถานะบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองชอบด้วยกฎหมาย ตามแนวทางขับเคลื่อนเป้าหมายการยกระดับกรมการปกครอง ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๖ (Dopa Next Level 2023) ด้านการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ตลอดจนเป็นการแก้ไขปัญหาสิทธิอาศัยในประเทศ หรือเพื่อให้ได้รับสิทธิและสวัสดิการอย่างเท่าเทียมตามหลักมนุษยชน
ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนยังมีกลุ่มบุคคลที่ประสบปัญหาด้านสถานะบุคคลอีกเป็นจำนวนมาก จังหวัดแม่ฮ่องสอนเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนเพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิอาศัยในประเทศ หรือเพื่อให้ได้รับสิทธิ และสวัสดิการอย่างเท่าเทียมตามหลักมนุษยชน และคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังจากผ่านการฝึกอบรมจะสร้างความรู้ความเข้าใจในครั้งนี้ให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมให้มีความรู้ความเข้าใจในสถานะบุคคลของตนเองมากขึ้น และนำความรู้ดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้อื่นได้
ทั้งนี้จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้ ในการดำเนินโครงการดังกล่าวแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษา กลุ่มเด็ก และบุคคลทั่วไป จึงได้จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล โดยเฉพาะบุคคลที่เกิดในประเทศไทย จะพัฒนาสถานะบุคคลของตนเอง โดยการยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่กำหนด จากการปฏิบัติงานด้านสถานะบุคคลที่ผ่านมาพบว่าผู้ประสบปัญหาโดยส่วนมากขาดความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาสถานะบุคคลของตนเอง ทั้งนี้อาจเนื่องจากข้อกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง การศึกษาข้อกฎหมายด้วยตนเองจึงเป็นเรื่องยาก โดยต้องอาศัยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านงานแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล เพื่อให้องค์ความรู้และใช้กลไกชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจสร้างความเข้าใจแบบกระจ่างแจ้ง ไขข้อข้องใจในปัญหาสถานะบุคคลให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมต่อไป.
วิรัตน์ แม่ฮ่องสอน-รายงาน