เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 เวลา 14.00 น. ผู้สื่อข่าวได้ขอสัมภาษณ์นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ในกรณีที่มีกระแสข่าวว่าปางช้างแม่สาเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมปางช้างฟรีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในขณะที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูช้างจำนวน 68 เชือก มีหนี้สินพะรุงพะรัง
ในเรื่องนี้ นางอัญชลี กัลมาพิจิตรได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ปางช้างแม่สาดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี 2519 ในปัจจุบันมีช้างที่เลี้ยงดูอยู่ 68 เชือก ลดลงจากเดิมตอนที่ตนเข้ามาบริหารเมื่อปลายปี 2562 ซึ่งมีจำนวนช้างระบุไว้ในพินัยกรรมจำนวน 81 เชือก แบ่งออกเป็นช้างที่จดทะเบียนมีตั๋วรูปพรรณแล้ว 77 เชือก และลูกช้างที่ได้แจ้งจดทะเบียนไว้อีกจำนวน 4 เชือก ที่ช้างหายไปเป็นเพราะเรามีช้างแก่และล้มตายลงมาก
ส่วนสาเหตุหนึ่งที่ปางช้างต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือ การเผชิญกับสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 ทำให้ปางช้างต้องปิดชั่วคราว งดการแสดงช้างรวมถึงกิจกรรม(ใส่แหย่งช้าง)ให้นักท่องเที่ยวนั่งบนหลังช้างไปโดยปริยาย ประกอบกับช้างที่ใส่แหย่ง หรือช้างแสดงหลายเชือกมีอายุมากขึ้น ขณะนั้นตนได้รับข้อมูลว่าในแต่ละวันมีช้างเจ็บป่วย และช้างอายุมากที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษเพิ่มมากขึ้นทุกวัน จะว่าตนเข้ามาบริหารแล้วเจอแจ็คพอตเลยก็ว่าได้ คือตนเองเข้ามาตอนที่โปรแกรมของปางช้างแม่สาเริ่มลดความนิยมลงแล้ว ประกอบกับช้างส่วนใหญ่ไม่พร้อมให้บริการเหมือนเดิม
เมื่อมีโรคระบาดโควิด-19เกิดขึ้น ตนจึงตัดสินใจยกเลิกกิจกรรมทั้งหมด และขอแก้ไขปัญหาให้กับช้างของปางช้างอย่างตรงประเด็นที่สุด คือการแยกช้างที่ควรเกษียณอายุแล้ว ให้มีโอกาสพักผ่อน ดังนั้นช้างแม่สาทุกเชือกถือว่าได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา นอกจากนี้ช้างของปางช้างมีบางส่วนที่ได้รับการปลดโซ่ เลิกฝึกการแสดง และไม่มีการใส่ที่นั่ง(แหย่งช้าง)บนหลังช้างอีกต่อไป”
การที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ลากยาวมาหลายปี ทำให้ทั้งช้างและควาญเริ่มเคยชินกับระบบหรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ถ้าจะให้กลับไปแสดงหรือใส่แหย่งอีก ช้างจะไม่ยอมรับอีกแล้ว ช้างบางเชือกเมื่อมองเห็นโซ่ หรือแหย่งช้าง หรือแม้กระทั่งที่ขึ้น-ลงช้างก็จะเดินหนีทันที ตนจึงขอทำปางช้างแม่สาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน คือเปิดให้เข้าฟรี มีโปรแกรมแค่ป้อนอาหารช้าง หรืออาบน้ำช้างเท่านั้น
อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการที่ผู้บริหารอย่างตนต้องลดค่าใช้จ่าย ควบคุมรายจ่าย เพื่อประคับประคองปางช้างแม่สาให้ตั้งอยู่ต่อไป ทั้งๆที่เราติดลบร่วม 80 ล้านบาท จะเข้าสู่หลักร้อยล้านบาทแล้ว การลดค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งคือการลดจำนวนพนักงานลง ให้จำกัดอยู่เท่าที่เราสามารถแบกรับไหว จากเดิมจำนวน 300 กว่าคน เหลือเพียง 110 คนเท่านั้น โดยแยกเป็นแผนกเลี้ยงช้างหรือควาญช้าง มีนายสัตวแพทย์รวมด้วย 1 คน ส่วนที่เหลือคือฝ่ายให้บริการในปางช้างแม่สา ทุกวันนี้พนักงานเราน้อยมาก ทุกคนต้องช่วยกันทำงานเกินหนึ่งอย่าง อย่างเช่นควาญช้างต้องหมุนเวียนกันออกไปตัดหญ้ามาเป็นอาหารช้างด้วย เพื่อช้างจะได้กินอิ่ม ส่วนจะให้เรากลับมาเก็บเงินค่าเข้าอีก เราคิดว่าเราไม่มีความพร้อมเต็ม 100% ในการให้บริการ ถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นแต่นักท่องเที่ยวเองก็ยังคงมีตัวเลขที่ไม่เพียงพอในวันธรรมดา
สำหรับค่าใช้จ่ายของปางช้างแม่สานั้นอยู่ที่เดือนละ 3 ล้านบาท หมายความว่าเราจะต้องมีรายได้วันละ 1 แสนบาท ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เราไม่สามารถหาได้ แค่เราเปิดให้บริการทุกวันนี้ ยังไม่มีในส่วนบริการร้านอาหารเลย เพราะถ้ามีร้านอาหาร เราต้องจ้างแม่ครัว จ้างพนักงานเสริฟ ซื้อของแห้ง ของสดเข้าครัว เราจึงขอขายแค่เครื่องดื่ม มีร้านกาแฟ และขนมขบเคี้ยวเท่านั้น
“ส่วนการแก้ปัญหาของปางช้างแม่สาก็คงจะวนมาที่การจัดการทรัพย์สินตามพินัยกรรมของนายชูชาติ กัลมาพิจิตร บิดาผู้ล่วงลับไปแล้วของตน ที่ได้ทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สินส่วนใหญ่ให้กับบริษัท ปางช้างแม่สา จำกัด” อย่าลืมว่าปัญหานี้ตนต้องแบกรับไว้เองในฐานะทายาท และเป็นผู้จัดการมรดกร่วม ตนอยากจะจัดการทรัพย์สินของบิดาใจจะขาด เพราะปางช้างมีหนี้สินที่สะสมมา ต้องสะสางด้วยทรัพย์สินที่จะได้รับมาเท่านั้น ส่วนเงินที่เหลือจากการชำระหนี้ก็จะนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขับเคลื่อนบริษัทฯและพัฒนาปางช้างแม่สาต่อไป บริบทที่สำคัญของการยังคงมีอยู่ของปางช้างแม่สาคือการอนุรักษ์ช้างแม่สาไว้ และเร่งเพิ่มจำนวนประชากรช้างแม่สาให้มาแทนที่จำนวนช้างแก่ที่จะล้มหายไปอีกเกิน 20 เชือก
ในแง่มุมของงานวิชาการ การขยายพันธุ์หรือเพิ่มจำนวนประชากรช้างมีความยาก เนื่องจากช้างใช้เวลาตั้งท้องนาน 18-23 เดือน เลี้ยงลูกด้วยนมอีก 4-5 ปี ในจำนวนช้างเลี้ยง 68 เชือก แบ่งออกเป็นช้างแก่ และช้างลูกคอกหรือช้างที่ผสมในปาง และเกิดในปางมากถึง 33 เชือก จึงมีสายเลือดที่ชิดกัน เรียกว่าเป็นเครือญาติ เดียวกัน จะผสมกันเองไม่ได้ ประกอบกับทุกวันนี้ปางช้างแม่สาไม่มีช้างพ่อพันธุ์เหลืออยู่เลยแม้แต่เชือกเดียว จึงทำให้การสืบสายพันธุ์ช้างของช้างแม่สายากขึ้นไปอีก ในช่วงชีวิตนี้ของตน จะสามารถทำได้สำเร็จหรือไม่ก็ยังไม่รู้ ถึงแม้ว่าตนจะวางเป้าหมายของปางช้างแม่สาไว้ให้เป็นศูนย์อนุรักษ์ช้างแม่สา แต่ก็มาเสียเวลาไปอีกหลายปี และก็ยังจะต้องต่อสู้กันต่อไปอีก
ถ้าอยากให้ทุกอย่างสำเร็จตามเป้าหมาย ก็ต้องจบเรื่องด้วยการโอนทรัพย์สินเข้าสู่บริษัท ปางช้างแม่สาฯให้ได้ ไม่มีทางอื่นเลย นางอัญชลีกล่าวก่อนจบการให้สัมภาษณ์