วันที่ 21 ก.ย 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสถานการณ์น้ำในจังหวัดพะเยา หลังจากที่มีฝนตกติดต่อกันมาหลายวันส่งผลให้แหล่งกักเก็บน้ำต่างๆทั่วจังหวัดมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบให้พื้นที่ลุ่มได้ถูกน้ำไหลเข้าท่วมขัง โบราณสถาน ไร่นา เรือกสวน บ่อปลา บ้านเรือน และถนน
เช่นเดียวกับ น้ำในกว๊านพะเยาซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ หลังฝนตกติดต่อกันมาหลายวันส่งผลให้ปริมาณน้ำในกว๊านพะเยาเพิ่มสูงขึ้น ไหลเข้าท่วมถนนบ้านเรือน เรือกสวน บ่อปลา ถนน ที่ลุ่มรอบกว๊านพะเยาโดยที่บ้านร่องไฮ หมู่ 1 ต.แม่ใส อ.เมืองพะเยา ถูกน้ำในกว๊านเอ่อท่วมขัง โบราณสถานบ้านร่องไฮรวมทั้งถนน บ่อปลา บ้านเรือนด้วย และน้ำกว๊านพะเยาได้ไหลลงสู่ลำน้ำอิง รวมกับสายน้ำต่างๆในเขต อำเภอดอกคำใต้และอำเภอภูกามยาว น้ำได้ไหลเข้าท่วมไร่นา เรือกสวน บ่อปลา ที่ลุ่ม ติดกับลำน้ำแม่อิง ด้วย
สำหรับ สถานการณ์น้ำในกว๊านพะเยาปัจจุบันมีปริมาณระดับน้ำเริ่มท่วม 391.00เมตร มีปริมาณน้ำ 43 ล้านลูกบาศก์เมตร ของปริมาณกักเก็บน้ำทั้งหมด 55 ล้านลูกบาศก์เมตร
ชาวบ้านร่องไฮ หมู่ 1 ตำบลแม่ใส ที่ถูกน้ำกว๊าน ท่วมขัง กล่าวว่าได้ถูกน้ำกว๊านพะเยา ไหลเอ่อเข้าท่วมขังบ้านและถนนในหมู่บ้าน มาแล้ว 3 วันโดยมีน้ำที่ไหลมาจากกว๊านพะเยา และกำลังรอ เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยแก้ไขให้
นายปาโมกข์ ปิงเมือง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพะเยา กล่าวว่า หลังจากในพื้นที่จังหวัดพะเยามีฝนตกลงมา ส่งผลให้ปริมาณน้ำกว๊านพะเยาเพิ่มสูงขึ้น ล่าสุดมีปริมาณน้ำถึง 43 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยโครงการชลประทานพะเยา ได้มีการบริหารจัดการน้ำกว๊านพะเยา เพื่อไม่ให้กระทบกับภาวะน้ำท่วม ซึ่งยังคงมีปริมาณน้ำเข้ามาเติมบริเวณกว๊านพะเยาอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าหากสิ้นฤดูฝน ปริมาณน้ำก็จะเต็มความจุที่กว๊านพะเยาสามารถรองรับได้ คือที่ระดับ 55 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งขณะนี้ก็ยังคงสามารถรับน้ำได้อีก 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ทางโครงการชลประทานพะเยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้มีการวางแผนที่จะพร่องน้ำออกจากว๊านพะเยา โดยลำน้ำอิงสามารถรองรับการพร่องน้ำได้ถึง 118 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ปัจจุบันพร่องไปเพียง 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเฉลี่ยแล้วพร่องน้ำออกจากกว๊านพะเยาไปเพียง 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยไม่มีผลกระทบทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ ซึ่งโครงการชลประทานพะเยา ก็มีการควบคุมดูแลปริมาณน้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชน รวมถึงปัญหาภัยแล้งในปีต่อไป