เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 ผศ.ดร.เสถียร ฉันทะ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จ.เชียงราย เปิดเผยถึงผลการวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจเกษตรข้ามชาติของจีนและผลกระทบกรณีศึกษาการทำสวนกล้วยในประเทศลาว ว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คนจีนเข้ามาทำกิจการในลาวจำนวนมาก โดยเฉพาะการทำธุรกิจการเกษตร ทั้งการทำสวนกล้วย ปลูกฟักทอง นอกจากนี้ยังมียางพารา การปลูกข้าวโพด แต่ที่เห็นชัดคือพืชระยะสั้น เช่น ฟักทอง แตงโม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของธุรกิจจีนในลาวเป็นอย่างไรนั้น ตนเองได้เข้าไปดูที่แขวงบ่อแก้วเป็นหลักโดยเฉพาะในส่วนของกล้วย
ผศ.ดร.เสถียรกล่าวว่า กล้วยส่งผลกระทบต่อวิธีชุมชนทั้งบวกและลบคือในทางบวกนั้นทำให้มีการสร้างรายได้ แต่ในทางลบคือชาวบ้านได้รับผลกระทบจากสารเคมีและขยะ โดยมีหลายแขวงที่นักธุรกิจจีนเข้าไปทำสวนกล้วยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2555 จำนวน 7 บริษัท ใน 5 เมือง โดยมีการบริหารจัดการแรงงานคือทั้งอยู่ประจำและไป-กลับ ซึ่งที่เมืองต้นผึ้งเป็นเมืองหนึ่งที่มีการปลูกกล้วยในพื้นที่จำนวนมาก โดยแรงงานที่อยู่ประจำในสวนกล้วยมักอยู่ได้ไม่ถึง 3 ปีก็เจ็บป่วยจากสารเคมี บางคนเสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีปัญหาการแย่งชิงที่ดินระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน และมีการร้องเรียนไปยังรัฐบาลกลางของลาวจนเป็นเหตุให้มีการยุติการขยายพื้นที่ให้สัมปทานการปลูกกล้วย และ เมื่อปลูกกล้วยไม่ได้ทำให้นายทุนจีนหันไปปลูกอื่นๆ เช่น ถั่วเหลือง เดือย และทำปศุสัตว์โดยทุนจีนเหมือนเดิม ทั้งนี้ล่าสุดยังมีสวนกล้วยอยู่แต่ไม่ให้สัมปทานเพิ่ม
“ข้อค้นพบคือการปฎิบัติการข้ามชาติของทุนจีน เป็นการเกี้ยเซียะผลประโยชน์ของรัฐต่อรัฐ และรัฐต่อพ่อค้าชาวจีน ส่งผลกราะทบต่อเรื่องทรัพยากรและสุขภาพ โดยชุมชนพยายามต่อรองให้ยุติการสัมปทานเพิ่มซึ่งก็สำเร็จเพราะรัฐบาลลาวให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ นโยบายของจีนและลาวตกลงกันทางด้านเศรษฐกิจเพื่อให้รัฐปลายทางยอมรับทุนจีนคือเรื่องของความช่วยเหลือ”ผศ.ดร.เสถียร กล่าว
นักวิชาการผู้นี้กล่าวด้วยว่า ทั้งหมดเป็นข้อมูลที่เจอในประเทศลาว เรื่องของกล้วยไม่ใช่เป็นปัญหาพืชกล้วยๆแต่เป็นเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากร แย่งน้ำ ส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อย ขณะที่มีการใช้สารเคมีหลายตัวมาก จนไม่รู้ว่าใช้ตัวไหนเป็นหลัก ที่สำคัญคือเขียนเป็นภาษาจีน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีปัญหาเกี่ยวกับการตรวจสอบ
ผศ.ดร.เสถียร กล่าวว่าการจ้างงานทำสวนกล้วยในลาว มี 3 แบบคือ แรงงานแบบอยู่ถาวรส่วนใหญ่เป็นลาวสูงคือม้ง เข้ามาอยู่ราว 3 ปีก็ต้องไปเพราะป่วย แรงงานชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นลาวเทิงและลาวลุ่มบางส่วน ซึ่งเป็นการเช่าที่จากชาวบ้าน แต่บางทีนายทุนจีนก็ไม่จ่ายค่าเช่า ที่สำคัญบางครั้งเมื่อปรับเป็นแปลงขนาดใหญ่ ทำให้ชาวบ้านไม่รู้แนวเขตเพราะมีการปรับลำน้ำคูคลองใหม่หมด
“การเข้ามาของทุนจีน กล้วยมาทีหลังแทนยางพาราและพืชล้มลุก เพราะให้ผลตอบแทนที่สูง และในจีนปลูกกล้วยได้เฉพาะตอนใต้ แต่การเช่าที่ดินราคาแพงขึ้น เมื่อลาวไม่ให้ขยายสัมปทาน ทุนเหล่านี้เคลื่อนย้ายไปในพม่าและกัมพูชา”นักวิชาการผู้นี้กล่าว
ผศ.ดร.เสถียรกล่าวว่า ระบบแรงงานและการคุ้มครองแรงงานในลาวนั้น ลาวมีกฏหมายคุ้มครองเช่นกัน แต่เจ้าหน้าที่รัฐลลาวไม่ได้เข้าไปดูว่าคนเหล่านี้เข้าถึงกระบวนการคุ้มครองหรือไม่ กฎหมายมีอยู่แต่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ และฐานข้อมูลแรงงานก็ไม่มีชัดเจนว่ามีคนงานจำนวนเท่าไร ดังนั้นการคุ้มครองเรื่องสิทธิสุขภาพจึงไม่ปรากฏ ขณะที่ทุนจีนพยายามลดความขัดแย้งโดยการสนับสนุนด้านสาธารณูปโภคต่างๆรวมถึงโรงเรียน สุขศาลา
เมื่อถามว่าการปลูกกล้วยโดยใช้สารเคมีเข้มข้นแต่ทำไมถึงส่งกลับจีนได้ ผศ.ดร.เสถียรกล่าวว่า กล้วยส่งกลับไปขายจีน แต่เวลาเก็บผลการตัดชุบน้ำยาและขนย้าย
พื้นที่เก่าในลาวเริ่มลดลงเพราะจีนไม่เปิดชายแดนให้กล้วยเข้าในช่วงโควิด จึงส่งไปที่คาสืโนต้นผึ้ง รัฐบาลลาวพยายามควบคุมเรื่องสารเคมี แต่เขาไม่รู้ว่าเป็นประเภทไหนเพราะเป็นภาษาจีนหมด
“คนงานอยู่3 ปีเริ่มป่วย ก็จะถูกเลิกจ้างเพราะคนจีนไม่อยากรับภาระ เขาก็ยังหาคนงานมาแทนได้ตลอด การอยู่สวนกล้วยมีรายได้แน่นอนกว่า ทั้งแบบรายวันและรายเดือน ขึ้นอยู่กับทำงานอะไร หรือทำงานในรูปแบบไหน เช่น เหมาดูแลเป็นแปลงโดยนับเป็นจำนวนต้น”ผศ.ดร.เสถียร กล่าว