นายทุนเหมือง เหิมหนัก สบถคำหยาบต่อหน้าผู้ตรวจการแผ่นดิน ชาวบ้านจวกยับสร้างความเดือดร้อนกว่า 43 ปี

 

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนต้าผามอก อำเภอลอง จังหวัดแพร่ คณะผู้ตรวจการแผ่นดิน ประกอบด้วย พันโทเทพจิต วีณะคุปต์ ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 4 และ พันตำรวจโทเทวิล ชาญกล้า เจ้าหน้าที่สอบสวน ฯ นำนายวิเชียร อนุสาสนนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นางมยุรี ผลดีประสิทธิ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม นายคงฤทธิ์ เหล่ากาวี เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดแพร่ นายโสภณ สุรภี หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ และ พ.อ.สุชาติ พุ่มสุวรรณ รอง ผอ.ร.ม.น.จังหวัดแพร่ พร้อมทั้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแพร่ นางพิกุล เอี่ยมพงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลต้าผามอก นายองอาจ เอี่ยมเจริญ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลต้าผามอก เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เวียงต้า ปลัดอำเภอลอง ตำรวจ สภ.เวียงต้า นายอำนวย พลหล้า สถาบันพระปกเกล้า “ทนายเคน” นายติรานนท์ เวียงธรรม กรรมกรแรงงาน รัฐสภา และทีมงาน “โด่ง” นายจีระวัฒน์ ดวงประทีป แกนนำชาวบ้านอิม พร้อมชาวบ้านกว่า 30 คน เข้าดูพื้นที่ทำ”เหมืองแร่ศศิน” ที่บ้านอิม หมู่ 5 ต.ต้าผามอก อ.ลอง จ.แพร่ ที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ทำให้ลำน้ำแม่สวกตื้นเขิน และมลภาวะอื่นๆ ต่อชุมชน จนมีการร้องเรียนถึงความเดือดร้อนถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงได้เดินทางเข้าดูจุดทำ “เหมืองแร่ศศิน” ที่ “ขี้แร่” ที่กองไว้ พังทลายทับถมลำห้วยแม่สวก จนตื้นเขินไม่มีสภาพลำห้วยแต่อย่างใด กว่า 43 ปีแล้ว

นอกจากนั้น ยังมีการบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นสอบสวนของ DSI มานานถึง 3 ปีกว่าแล้ว สำหรับจุดล้างแร่ ยังปล่อยน้ำทิ้งลงลำน้ำแม่สวกอีกด้วย นอกจากนั้นทางคณะฯ ยังเข้าดูที่ทำการบริษัททำเหมืองแร่ศศิน จำกัด จุดวางเครื่องจักร และ จุดกองขี้แร่ หลังจากนั้นได้นำชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ประกอบการบริษัททำเหมือง มี นายมณฑล สุริยาศศิน ผู้ได้ประทานบัตรเหมืองศศิน พร้อม ผู้จัดการเอก นายกรัณย์พล อภิธนภูรินทร์ ผู้จัดการเหมืองแร่ศศิน

สำหรับบรรยากาศการพูดคุยในห้องประชุม เพื่อหาทางแก้ไขให้กับพี่น้องประชาชน มีการชี้แจงจากฝ่ายราชการที่เกี่ยวข้องคือ นายโสภณ สุรภี หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ ป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดแพร่ เป็นการตอบข้อซักถามในประเด็นต่างๆ ของข้อร้องเรียนจากผู้ตรวจการแผ่นดิน และเสียงจากผู้ประกอบการคือ นายมณฑล ฯ พูดถึงการขอประทานบัตรใหม่และผลกระทบพร้อมทั้งทางออกที่จะนำไปสู่การแก้ไขอย่างรวดเร็ว

นางมยุรี ผลดีประสิทธิ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม ได้ชี้แจงว่า กรณีที่มีการร้องเรียนเหมืองแร่ และการขอประทานบัตรใหม่ ทางทสจ.แพร่ ได้ทำหนังสือไปยังกรมป่าไม้เรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการขออนุญาต อีกประเด็นคือการทำหนังสือไปยังฝ่ายนโยบายและแผนว่าพื้นที่ดังกล่าวมีประชาชนร้องเรียน ว่าเหมืองส่งผลกระทบต่อประชาชน ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ได้มีคำสั่งให้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ เข้ามาตรวจสุขภาพประชาชน พบว่าไม่มีผลกระทบที่ชัดเจนหรือเป็นนัยสำคัญต่อสุขภาพ มีการเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจ ตรวจมลภาวะพบว่าไม่เกินค่ามาตรฐาน หลังจากหยุดการทำเหมืองแล้ว

ทาง นายโสภณ สุรภี หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ อุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ รายงานให้ผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นเรื่องซ้ำซาก มีการพูดถึงบ่อยครั้งมาก ซึ่งทางราชการทำตามกฎหมายทุกขั้นตอนแต่ยังมีการร้องเรียนไม่หยุด ความจริงแล้วประวัติการทำเหมืองที่บ้านอิมนั้น มีมานานแล้ว เริ่มจาก นายบุญชู กัมปนาถแสนยากร จำนวน 254 ไร่ เริ่ม 20 มิถุนายน 2522 ทำเหมืองมานานไม่มีปัญหา ก่อนหมดอายุประทานบัตรตามกฎหมายแร่ ต้องมีการยื่นขอประทานบัตรล่วงหน้า และก็ได้รับประทานบัตรต่อในพื้นที่เดิม ถัดออกไปมีคำขอประทานบัตรของนายมณฑล สุริยาศศิน ซึ่งทำตามข้อกฎหมายทุกประการ แปลงที่ 3 มีใบอนุญาตอีกใบพื้นที่ได้รับอนุญาตจากป่าไม้แล้วเช่นกัน จุดขออนุญาตอยู่ไกลกับชุมชนกว่า 1 กม.สำหรับพื้นที่ที่มีปัญหาติดลำห้วยแม่สวก มีปัญหาคือการขออนุญาตจากป่าไม้ล่าช้ามาก ทำให้เกิดปัญหา เมื่อปี 2560 กฎหมายแร่มีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการขออนุญาต ซึ่งการขอประทานบัตรใหม่มีการขอประชาคมต่อชุมชน ตามเงื่อนไข พ.ร.บ.แร่ แต่ชาวบ้านก็ยังร้องเรียนไม่หยุด ทั้งๆ ที่ประชาคมผ่านไปแล้ว

นายมณฑล สุริยาศศิน เจ้าของผู้ขอประทานบัตรกล่าวว่า แม้ตนจะเป็นผู้ประกอบการจาก กทม. แต่ก็จะทำให้กับอำเภอลอง ดังนั้นการทำเหมืองจึงได้ให้การช่วยเหลือ สร้างสิ่งสาธารณูปโภค มีการสร้างเมรุเผาศพให้กับชุมชนด้วย

และนายมณฑล เอ่ยถึงกับผู้คัดค้านว่า “แน่จริงอย่ามาเผาเมรุ กูซิว่า”ด้วย ทำให้บรรยากาศการประชุมเริ่มร้อนขึ้นทันที ทำให้ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” เบรคกลางคัน “พอๆแล้ว ผมพร้อมราชการมาแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน พอแล้ว ผมยังไม่ให้ชาวบ้านพูดแล้ว”

สำหรับปัญหาเหมืองศศิน ที่บ้านอิม หมู่ 5 ต.ต้าผามอก อ.ลอง จ.แพร่ ทุกแปลงพบว่าเป็นผู้ประกอบการกว๊านเดียวกัน เป็นกลุ่มทุนใหญ่ที่ขอสัมปทาน ระหว่างดำเนินการมีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต

ชาวบ้านจวก เจ้าหน้าที่บ้านเมืองยัง “เอื้อประโยชน์”ให้นายทุนอีกต่างหากการขอประทานบัตรแปลงใหม่ต่อ ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่าไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยเจตนาของกฎหมาย “กำชับ” ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามกฎหมายที่มีการกระทำผิดให้แล้วเสร็จเสียก่อน ส่วนปัญหาการพังทลายของดิน “ขี้แร่” ต้องเร่งฟื้นฟูให้กลับมาสู่สภาพเดิมโดยเร็ว โดยให้จังหวัดแพร่ เข้าไปควบคุมดูแลตามขั้นตอนโดยเร็วด้วย

ธีรพงษ์ ธงออน/แพร่