♦️วันที่ 21 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.00 น.นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง มอบหมายให้นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเพื่อแปรสภาพเป็นพลังงานไฟฟ้าขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ณ ศูนย์จัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจรขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง หมู่ที่ 5 บ้านศรีดอนชัย ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
♦️โดยนางสาวตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร นายก อบจ.ลำปาง มอบหมายให้นายวราวุฒิ หน่อคำ รองนายก อบจ.ลำปาง ชี้แจงรายละเอียดข้อมูลโครงการร่วมกับทีมที่ปรึกษาประกอบด้วยผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรศ.ดร.อรรณพ
วงศ์เรือง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยประชาชนในพื้นที่และสื่อมวลชนร่วมรับฟังรายละเอียดข้อมูลโครงการ ซึ่งได้เปิดเวทีรับฟังความคิดของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมตอบข้อซักถามในประเด็นต่าง ๆ
♦️โครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเพื่อแปรสภาพเป็นพลังงานไฟฟ้าขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ศูนย์จัดการขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจรขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางได้เปิดให้บริการรับการจัดขยะมูลฝอยชุมชนตั้งแต่ปี 2559 ในปัจจุบันใช้งานมาแล้วเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี ซึ่งเป็นระบบคัดแยกขยะเบื้องต้น คัดแยกขยะ
รีไซเคิล นำขยะไปหมักเป็นปุ๋ย การนำขยะพลาสติกมาอัดเป็นแท่งเชื้อเพลิง การนำขยะอินทรีย์ไปฝังกลบตามหลักสุขาภิบาล และการบำบัดน้ำเสียจากขยะ ปัจจุบันศูนย์จัดการขยะมูลฝอยฯ มีบ่อฝังกลบ 2 บ่อ ซึ่งมีข้อจำกัดที่สามารถรองรับขยะมูลฝอยได้อีกประมาณ 1 ปี และหากจะดำเนินการสร้างบ่อฝังกลบใหม่จะต้องใช้งบประมาณ 32,500,000 ล้านบาท
ประกอบกับเครื่องจักรกลและระบบอื่นๆ ภายในศูนย์ฯ กำลังจะหมดอายุการใช้งาน จึงเกิดปัญหาเครื่องจักรเดิมชำรุดและระบบบำบัดน้ำเสียที่จะต้องปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพซึ่งหากจะทำการซ่อมแซมปรับปรุงหรือเปลี่ยนชุดเครื่องจักรที่ชำรุดและระบบบำบัดน้ำเสียใหม่ จะต้องใช้งบประมาณรวม 31,090,000 บาท เมื่อรวมงบประมาณทั้ง 2 ส่วนนี้จะใช้งบประมาณกว่า 63,590,000 บาท
📌ประกอบกับรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยได้มีนโยบายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะมูลฝอยอย่าง
ถูกวิธี ถูกสุขลักษณะและเป็นระบบ และส่งเสริมให้ใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้พลังงานองค์การบริหารส่วนจังหวัด
ลำปาง จึงมีความจำเป็นในการพัฒนาศูนย์จัดการขยะมูลฝอยฯ ให้เป็นโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเพื่อแปรสภาพเป็นพลังงานไฟฟ้าให้สามารถใช้พื้นที่เท่าที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ไม่ต้องเพิ่มพื้นที่ในการฝังกลบ สามารถรองรับการจัดการขยะมูลฝอยของทั้งจังหวัดได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ #โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินโครงการดังกล่าว #ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการรับการจัดขยะมูลฝอยชุมชนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ #ในจังหวัดลำปางเท่านั้น
📌จากการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ได้เสนอเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนเป็นการเผาในเตาเผาแบบตะกรับแล้วนำพลังงานความร้อนจากการเผาขยะไปทำการผลิตไอน้ำและใช้แรงดันของไอน้ำไปทำการขับเคลื่อนระบบผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตขนาด 9.5 เมกะวัตต์ และได้เสนอให้มีการติดตั้ง
ระบบกำจัดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้ขยะ เช่น ฝุ่นละอองขนาดใหญ่ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์(CO),ไนโตรเจนออกไซด์
(NOx), ซัลเฟอร์ออกไซด์ก๊าซไฮโดรเจรคลอไรด์
(SOx and Acid Gases) ไดออกซิน และฟิวแรน
(Dioxinns/Furan) อนุภาคโลหะหนัก และฝุ่นละออง ทำการกำจัดโดยให้อยู่ในค่ามาตรฐานก่อนปล่อยออกสู่บรรยากาศ ซึ่งจะมีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ และแสดงผลแบบ Real time เพื่อเผยแพร่ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในระบบดิจิตัลติดตั้งบริเวณด้านหน้าของศูนย์ฯให้ประชาชนสามารถมองเห็นอย่างชัดเจนตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมาตรการด้านการควบคุมมลพิษทางอากาศจะเชื่อมโยงระบบไปยังกรมควบคุมมลพิษ หากค่าเกินมาตรฐาน มีระบบแจ้งเตือนไปยังกรมควบคุมมลพิษและเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯทันที
📌การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในครั้งนี้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ที่กำหนดให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนรอบโครงการในพื้นที่รัศมี 1 กิโลเมตร
และเพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อกังวล ข้อห่วงใย และข้อเสนอแนะของประชาชนในพื้นที่ โดยจะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปดำเนินการกำหนดไว้ในร่างขอบเขตงานและคุณลักษณะเฉพาะในการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนเพื่อการดำเนินโครงการดังกล่าว
📌การดำเนินโครงการในครั้งนี้ไม่จำเป็นต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เพราะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงที่มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำ
รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561
♦️ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ♦️ ทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่จังหวัดลำปาง โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางจะเน้นการจ้างแรงงานของประชาชนในพื้นที่รัศมีและประชาชนในจังหวัดลำปางเป็นหลัก มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า ตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และมีการกำหนดให้ผู้ลงทุนนำส่งเงินเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อมให้ชุมชน เพื่อนำมาพัฒนาสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่รอบโครงการ
♦️ นอกจากนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางจะได้ให้ความสำคัญของภาคประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการ ในรูปแบบคณะกรรมการร่วม เพื่อเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็น และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
📌ขอทราบข้อมูลเพิ่มเติม📌
ฝ่ายนิติการ สำนักปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง เบอร์โทรศัพท์ 054237615