“ราชรถน้อยเมืองเชียงใหม่ ที่หายสาบสูญ”

……………………………………………………………..
ในสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
องค์สุดท้าย ได้มีการจัดสร้างราชรถน้อย
ไว้สำหรับเมืองเชียงใหม่ เพื่อใช้อัญเชิญพระศพ
ของพระมหาเถระ และเจ้านายฝ่ายเหนือ
ถือเป็นแบบอย่างของงานศิลปกรรม
ฝีมือช่างคุ้มหลวงนครเชียงใหม่
ที่แสดงออกถึงการผสมผสานรูปแบบ
งานศิลปกรรม ที่ได้รับแรงบันดาลใจ
จากศิลปะรัตนโกสินทร์ และรสนิยมเชิงช่าง
แบบพื้นเมือง ได้อย่างโดดเด่นและสะท้อน
บุคลิกของงานศิลปกรรมเมืองเชียงใหม่
ในช่วงปลาย พุทธศตวรรษที่๒๕
ออกมาได้อย่างน่าชม
ราชรถองค์นี้ มีรูปแบบเป็นราชรถโถง
(ไม่มีบุษบกตั้งด้านบน) สร้างจากไม้จำหลัก
ปิดทองประดับด้วยกระจก อย่างแพรวพราว
ประกอบด้วยชั้นเกรินทั้งหมดสามชั้น
ด้านหน้าสลักเป็นรูปเศียรนาคหน้าเกริน
ด้านหลังสลักเป็นลวดลายกระหนกท้ายเกริน
บริเวณกระจังล่างของเกรินชั้นแรก
ห้อยพู่ประดับ สร้างความอ่อนหวานให้กับ
ราชรถเป็นอย่างยิ่ง
…………………………………………………………………..
…………………………………………………………………
ส่วนของระบบขับเคลื่อน ดัดแปลงจาก
รถลากม้า (Horse drawn vehicle)
ประกอบด้วยล้อทั้งหมด 4 ล้อ
ตกแต่งด้วยแม่แปรกรูปพญานาค
มีการเสริมแหนบรับน้ำหนักบริเวณเพลาล้อ
เชื่อมติดกับโครงสร้างของราชรถ
ด้านหน้าเป็นงอนราชรถสำหรับใช้เป็น
คันบังคับเลี้ยว ติดกับแกนหมุนของล้อด้านหน้ารถ
ส่วนปลายงอนรถแกะสลักเป็นรูปพญานาค
ประดับด้วยธงสามเหลี่ยม
……………………………………………………………..
เท่าที่สืบค้นได้ในขณะนี้ พบมีการใช้ราชรถ
องค์นี้ในการเชิญศพของพระมหาเถระ
และเจ้านายฝ่ายเหนือในหลายวาระ คือ
พ.ศ.๒๔๗๘ ใช้ในการเชิญศพพระครูบา
โสภาณุมหาเถระ (ครูบาเถิ้ม) เจ้าอาวาสวัดแสนฝาง
พ.ศ.๒๔๘๑ ใช้เชิญศพเจ้าศิริประกาย ณ เชียงใหม่
บุตรีเจ้าแก้วนวรัฐ
พ.ศ. ๒๔๘๒ ใช้เชิญพระศพมหาอำมาตย์โท
พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่๙
พ.ศ. ๒๔๘๙ ใช้เชิญโกศศพพระครูบาเจ้าศรีวิชัย
พ.ศ. ๒๔๙๘ ใช้เชิญพระศพ เจ้าฟ้าสิริสุวรรณ
ราชยสสรพรหมลือ (เจ้าฟ้าพรหมลือ ณ เชียงตุง)
เจ้าฟ้าเชียงตุงองค์ที่๑๐
……………………………………………………………
ต่อมาราวปีพ.ศ. ๒๔๙๖-๒๔๙๘ มีการดัดแปลง
ราชรถองค์นี้ เพื่อใช้ในการประดิษฐาน
พระพุทธสิหิงค์ (พระสิงห์หลวง)
เป็นประธานในริ้วขบวนแห่พระพุทธรูปสำคัญ
ของนครเชียงใหม่ในการออกแห่
เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำในเทศการสงกรานต์
เช่นเดียวกับการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์
จากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ด้วยราชรถน้อย
มาประดิษฐานให้ประชาชนสรงน้ำในวันขึ้นปีใหม่
………………………………………………………………….
ต่อมาราชรถองค์นี้คงมีการชำรุด
ไปตามกาลเวลาจนไม่สามารถ
ที่จะนำออกมาใช้การได้ จึงได้ยุติการใช้งาน
และคงมีการรื้อถอนส่วนประกอบลง
ทำให้ชิ้นส่วนต่างๆกระจัดกระจาย
และสูญหายไปในที่สุด

————————————-

Editorial By : CM Craft Studio
Photo By : พระมหาพิพัฒน์ วิพฑฺฒโน ,
คุณปรีชา ปวนลูน , CM Craft Studio,
หนังสือพิมพ์คนเมือง,
วารสาร THAILAND ILLUSTRATES
© 2020 by Thotsaporn Nanta
Cm-Craft-Studio-108496087476552/
?modal=admin_todo_tour
ทุกท่านสามารถแชร์บทความ
เเละภาพประกอบบทความได้
โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตผู้เขียน
ยกเว้นการเรียบเรียงใหม่ ตัดทอนเนื้อหา
หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความ
ตลอดการนำภาพประกอบบทความไปใช้
ต้องได้รับอนุญาตจากผู้เขียนเสมอ
และขอสงวนสิทธิ์ตามกฎหมาย
ในการนำบทความเเละรูปภาพทั้งหมด
หรือบางส่วนไปเผยแพร่ในนามของท่าน
ไม่ว่ากรณีใด