ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในแม่ฮ่องสอน กลายเป็นปัญหาหนัก พบการแพร่ระบาดมากขึ้นเรื่อยๆ ทางแก้ต้องให้กักตัวตามบ้านเรือน ภาคเอกชนต้องระดมความช่วยเหลือเพราะบางรายตกสำรวจไม่ได้รับความช่วยเหลือ
โควิด 19 ที่กำลังแพร่ระบาดแทบทุกพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนอยู่ในขณะนี้ กลายเป็นปัญหาที่ทางศูนย์ควบคุมโรคติดต่อจังหวัดแม่ฮ่องสอน ต้องหาทางแก้และปรับเปลี่ยนวิธีการรับมือกับการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงของกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนกระตุ้น นอกจากนี้ยังเจอปัญหากลุ่มเสี่ยงที่มาจากนักเที่ยว นักดื่มยามราตรี กลุ่มเสี่ยงของการจัดงานที่รวมผู้คนมากๆ จนกลายเป็นที่วิตกกังวลกับประชาชนทั่วไป.
เนื่องจากที่ผ่านมามีแนวโน้มตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแนวทางดำเนินการในขณะนี้นอกจากเร่งรณรงค์ให้กลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนสามารถ Walk In เข้าไปรับการฉีดได้แล้วทุกสถานพยาบาลของรัฐแล้ว กลุ่มที่ตรวจพบเชื้อทั้งตรวจพบจากการตรวจ ATK หรือ RT-PCR ส่วนมากต้องทำการกักตัว 10-14 วัน ณ บ้านเรือนของตนเอง พร้อมกับประสานการรักษากับโรงพยาบาล หรือ อสม. แต่จากปัญหาความห่างไกลของผู้ป่วยที่บางรายอยู่ห่างไกล จนกลายเป็นบุคคลต้องรอการติดต่อกลับหรือรับเวชภัณฑ์-ยา รักษา รวมถึงความช่วยเหลือด้านความเป็นอยู่ระหว่างการกักตัว.
จากปัญหาของผู้ป่วยที่ต้องรอความช่วยเหลือระหว่างการรักษาดังกล่าว ทางภาคเอกชนในพื้นที่ต้องระดมขอรับสิ่งของบรรเทาทุกข์เพื่อนำไปส่งยังบ้านเรือนต่างๆ ที่ได้ร้องขอเข้ามา โดยเฉพาะในกลุ่มของสะพานบุญครูหนึ่ง ที่ถือว่าเป็นกลุ่มสะพานบุญกลุ่มใหญ่ที่ออกให้การช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยไร้สัญชาติ ผู้พิการจำนวนมากมาก่อนหน้านี้ ในช่วงนี้ต้องหันมาระดมสิ่งของมากขึ้นเพื่อไปให้การช่วยเหลือกับผู้ป่วยกักตัวกันมากกว่าปกติ ทั้งการหาชุดตรวจ ATK หาสิ่งของบรรเทาทุกข์ นำออกไปแจกถึงบ้านเรือนที่กักตัว ซึ่งจะทำได้เฉพาะช่วงหยุดพัก ช่วงเย็นหรือวันหยุดสุดสัปดาห์ ด้วยการนำอาสาสมัครเดินทางไปตามจุดที่ได้รับการร้องขอมา นอกจากนี้ก็ยังต้องตรวจสอบข้อมูลที่ได้มาจากโซเชี่ยลว่าที่ไหนต้องการความช่วยเหลือ รวมถึงครอบครัวที่โทรศัพท์สายตรงมายังนายชาติชาย น้อยสกุลหรือครูหนึ่งโดยตรง ทั้งนี้ปัญหาหลักๆ ก็เป็นเรื่องของการเดินทาง เพราะบางแห่งอยู่ห่างไกล ที่ต้องใช้เวลาในการเดินทางมาก บางอำเภอก็ต้องใช้วิธีการกระจายสิ่งของไปยังเครือข่ายให้ช่วยนำสิ่งของไปแจกจ่ายแทนให้ทันต่อความต้องการ.
เช่นเดียวกับนายสุชาติ เจริญจารุกัญญ์ หรือตี๋ อาสาสมัครเอกชนและเจ้าของกิจการร้านซ่อมรถชื่อดัง ก็ต้องใช้เวลาในช่วงว่างทำการระดมสิ่งของเข้าไปให้การช่วยเหลือในพื้นที่ต่างๆ ด้วยเช่นกัน และที่แปลกกว่าก็คือพื้นที่ที่เข้าถึงยากนั้นจะใช้รถจักรยานยนต์เป็นม้าเร็ว เดินทางนำสิ่งของไปยังบ้านผู้ป่วยที่กักตัว โดยจะได้รับการประสานมาล่วงหน้าหรือต้องดูจากป้ายที่ชาวบ้านเขียนติดขอความช่วยเหลือไว้ที่หน้าบ้าน ว่าหลังไหนมีผู้ป่วยกี่คน สิ่งของนอกจากสิ่งของบรรเทาทุกข์ ข้าวสาร อาหารแห้งแล้ว บางครั้งต้องนำอาหารสด ผักสด ไปแจกจ่ายให้กับครอบครัวผู้กักตัวได้ปรุงรับประทานเองได้อีกทางหนึ่งด้วย.
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ ตั้งแต่เดือนมกราคา 2565 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 25 มีนาคม 2565 มีผู้ป่วยสะสมแล้ว 12,419 ราย มีผู้ป่วยอาการหนัก 4 ราย อาการปานกลาง 17 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสมแล้ว 14 ราย มีผู้ป่วยรักษาตัวอยู๋ที่โรงพยาบาล 61 ราย รักษษตัวอยู่ที่สถานกักกันกลาง (CI) 58 ราย และให้กักตนเองในที่พักอาศัย (HI) 3,400 ราย.
cr.วิรัตน์ นันทะพรพิบูลย์ จ.แม่ฮ่องสอน.