เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่บ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านได้ร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อคัดค้านโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลโดยการสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากแม่น้ำยวม อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ทะลุป่าอนุรักษณ์ผืนใหญ่มาลงที่บ้านแม่งูด อ.ฮอด เนื่องจากขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมของชาวบ้านอย่างแท้จริงและมีการแอบอ้างชื่อชาวบ้านในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ทั้งนี้ชาวบ้านได้ร่วมกันติดป้ายคัดค้านโครงการไว้บริเวณจุดต่างๆ และถ่ายภาพการคัดค้านเพื่อนำไปเผยแพร่.
นายวันชัย ศรีนวล ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด หมู่ 6 ต.นาคอเรือ กล่าวว่า ในวันเดียวกันนี้ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้ทำหนังสือเพื่อขอเข้ามาสำรวจพื้นที่เพื่อเลือกแนวในการจัดทำโครงการเครือข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์จากลำพูนถึงสบเมย ขณะที่มหาวิทยาลัยนเรศวรซึ่งรับงานจากกรมชลประทานในการจัดทำอีไอเอโครงการผันแม่น้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลก็ได้เชิญประชุมเกี่ยวกับการจัดการน้ำ ซึ่งเมื่อคืนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ชาวบ้านแม่งูดได้จัดประชุมกันเพื่อขอมติในการแสดงท่าทีโดยที่ประชุมเห็นว่าห้ามเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน เจ้าหน้าที่ กฟผ.และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าพื้นที่หมู่บ้าน และหากไม่มีผู้ใหญ่บ้านเดินทางร่วมไปด้วย ชาวบ้านจะไม่พูดด้วยกับเจ้าหน้าที่เหล่านี้.
นายวันไชยกล่าวว่า ในการจัดประชุมที่มหาวิทยาลัยนเรศวรจัดขึ้นที่ อ.ดอยเต่า ในวันเดียวกันนี้ทางกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านต่างมีมติเห็นพ้องกันว่าจะไม่เดินทางเข้าร่วมประชุมเพราะเกรงว่าจะถูกนำไปแอบอ้างอีก เหมือนกันเมื่อครั้งที่มีการทำอีไอเอ ซึ่งตอนนั้นมีคนมาหาตนและบอกว่าจะพูดคุยเรื่องสถานการณ์โควิด แต่สุดท้ายกลับถ่ายภาพและเอาไปเขียนในอีไอเอว่าได้มีการหารือในเชิงลึกเรื่องโครงการผันน้ำยวมกับตนแล้ว ทั้งๆที่ไม่ได้คุยกันเรื่องผันน้ำยวมเลย อย่างไรก็ตามครั้งนี้แม้ในจดหมายเชิญจะไม่ระบุว่าเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการผันน้ำยวม แต่เชื่อว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่นำมาใช้กับชาวบ้านเพื่อโครงการดังกล่าว.
“ที่ผ่านมาบริษัทเอกชนที่ได้รับการว่าจ้างให้เป็นที่ปรึกษาโครงการผันน้ำยวมได้โทรมาหาผมหลายครั้ง เขาบอกว่าอยากเข้ามาคุยด้วย เพราะคงเห็นว่าผมและชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับโครงการ แต่ผมแจ้งเขาไปว่ามันเลยขั้นตอนรับฟังไปแล้วไม่ใช่หรือ ทำไมตอนทำอีไอเอถึงไม่มาหาเรา แต่ตอนนี้กลับจะมาหา ผมจึงไม่อนุญาต”ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด กล่าว และว่าขณะนี้ชาวบ้านได้ลงนามในหนังสือร้องเรียนส่งไปยังกรมชลประทาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการที่ดินฯ สภาผู้แทนฯ และกำลังรอผลการพิจารณาอยู่.