ล่าสุด ชาวบ้านที่ไม่เอาโรงไฟฟ้าชีวมวล บ้านสองแควเหนือ แห่ติดป้ายประท้วงตามรั้ว ตามถนน และหน้าบ้าน และมีการถอนรายชื่อ สมาชิกวิสาหกิจชุมชน ไปแล้ว นับ 80 ราย เตรียมทำเรื่องถอนอีก 10 กว่าราย จากจำนวนสมาชิก 202 ราย

 

จากกรณี เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา บริษัท ซีวีกรีน ลำปาง จำกัด และเจ้าหน้าที่ กกพ.มารับฟังความคิดเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียของ โรงไฟฟ้าชุมชน ซีวี กรีน ลำปาง ขนาดกำลังผลิต 6.6 เมกะวัตต์ครั้งแรก ที่ศาลาประชาคม หมู่ที่ 1 โรงเรียนบ้านสองแควเหนือ ต.นาแก้ว อ.เกาะคา จ.ลำปาง ปรากฏว่าได้มีประชาชนกว่า 500 คน ได้พากันเดินทางมารวมตัวกันเพื่อต่อต้านไม่เอาโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งนายวราวุธ เมืองตั้ง ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง อ.เกาะคา จึงประกาศให้ยกเลิกการประชุม เนื่องจากมีประชาชนเป็นจำนวนมากไม่เห็นด้วย และเกรงในเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด.

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2565 ที่ห้องประชุมชั้น 2 ที่ว่าการอำเภอเกาะคา นายธนารัฐ สายเทพ นายอำเภอเกาะคา พร้อมด้วย นายวราวุธ เมืองตั้ง ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง อ.เกาะคา ตัวแทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ) สำนักงานประจำเขต 1(เชียงใหม่) รวมถึงผู้นำหมู่บ้านในตำบลนาแก้ว ผู้นำเทศบาลตำบลนาแก้ว เทศบาลตำบลท่าผา ตัวแทนชาวบ้านประมาณ 30 คน หลังจากที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเกาะคา โดยนายธนารัฐ สายเทพ นายอำเภอเกาะคา ได้รับเรื่องร้องทุกข์,ร้องเรียน จาก ชาวบ้าน บ้านสองแคว เหนือ หมู่ที่ 1 , บ้านสองแควใต้ หมู่ที่ 2 และบ้านสองแควสันติสุข หมู่ที่ 9 ต.นาแก้ว อ.เกาะคา จ.ลำปาง ว่า ขอคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่บ้านสองแควเหนือ เขตติดต่อกับบ้านนางแตน ม.1 ต.ท่าผา เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่อาจส่งผลให้เกิดปัญหา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและให้ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเกาะคา จึงเชิญฝ่ายข้างต้น ร่วมประชุมเพื่อทางออกในเรื่องดังกล่าว.

นางพวงทอง ศุภพิศ ตัวแทนชาวบ้าน ม.2 สองแควใต้ ต.นาแก้ว อ.เกาะคา เปิดเผยว่า ตนเองอยู่หมู่บ้านติดกับพื้นที่ ที่โรงไฟฟ้าจะมาสร้าง จึงได้มาร่วมประชุมด้วย เพราะเกรงว่าจะได้รับผลกระทบ เคยเห็นตามสื่อต่างๆ ว่าจะมีมลพิษเกิดขึ้นมากมาย และได้ผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เราในฐานะเป็นประชาชนเรามีสิทธิปกป้องตัวเอง ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ ได้นำรายชื่อผู้ร่วมคัดค้านจากหมู่บ้านที่เกี่ยวข้อง มาทั้งหมดจำนวน 1,107 รายชื่อ และที่ผ่านมา การชี้แจงไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ที่ครอบคลุมให้กับชาวบ้าน แต่เป็นการลักษณะเชิญชวนผ่านผู้นำชุมชน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้รับข้อมูลและไม่แน่ใจว่าข้อมูลเป็นอย่างไร ไม่มีเอกสารใดๆทั้งสิ้น ทางผู้นำชุมชนก็ไม่ได้ให้ข้อมูลพวกเราเลย จึงไม่ทราบว่าผลดีผลเสียเป็นอย่างไร หากรู้ข้อมูลชาวบ้านจะได้มีประชามติกันว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นด้วยหรือไม่ที่จะการสร้างโรงไฟฟ้าชีวิมวลในบริเวณดังกล่าว.

ด้านนายณัชปัณฑ์ธร กีรติกรพิสุทธิ ผู้จัดการฝ่ายชุมชนสัมพันธ์บริษัท Clover Power จำกัดมหาชน ได้ให้ข้อมูลว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ซีวีกรีน ลำปาง จำกัด ได้ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเชื้อเพลิงชีวมวลและพลังงานเพื่อชุมชนอำเภอเกาะคา ซึ่งโครงการดังกล่าว มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2562 (ครั้งที่ 149) เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2562 และในการประชุมครั้งที่ 2/2563 (ครั้งที่ 151) เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2563 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงานมีรายได้ที่แน่นอน จากการขายเชื้อเพลิงในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา และร่วมรับผลประโยชน์ตอบแทนจากโรงไฟฟ้า รวมถึงให้โรงไฟฟ้ามีส่วนสนับสนุนการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมของชุมชนรอบโรงไฟฟ้า.

จึงได้ออกประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง ประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก(โครงการนำร่อง)พ.ศ. 2564 จัดตั้งโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก กำลังผลิตติดตั้ง 6.6 เมกะวัตต์ (VSPP) ผลิตเพื่อจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จากเชื้อเพลิงชีวมวลจากในพื้นที่ตามฤดูกาล เช่น ข้าวโพด ไม้สับ ไม้ไผ่ ฟางข้าว พืชพลังงาน ที่มาจากการส่งเสริมปลูกไม้โตเร็ว ในพื้นที่จังหวัดลำปางเป็นส่วนใหญ่ โดยวิสาหกิจชุมชนเป็นผู้รวบรวมในจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้ 240 ตันต่อวัน.

ซึ่งการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม จะมีการควบคุมการจัดการกากของเสีย ส่งกำจัดโดยผู้ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง และไม่มีน้ำทิ้งจากกระบวนการ (Zero Discharge) ส่วนกลิ่นจากกระบวนการผลิต เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลที่แห้ง ส่วนใหญ่จะไม่มีกลิ่น หรือถ้าเชื้อเพลิงชื้นมากๆก็อาจจะมีบ้างในบริเวณโกดังปิด ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน รวมถึงการบําบัดมลพิษทางอากาศ ใช้ระบบดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิตย์ที่มีประสิทธิภาพสูง (ESP) โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถดักกรอกฝุ่นขนาด0.01ไมครอนได้ มีการตรวจสอบและแสดงผลแบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังมีหน่วยงานราชการที่กำกับดูแลตามที่กฎหมายกำหนด โดยสิ่งแวดล้อมจังหวัดและอุตสาหกรรมจังหวัด จะมีการสุ่มตรวจสอบที่ปากปล่องและชุมชนใกล้เคียงอย่างสม่ำเสมอ.

ส่วนความร้อนจากกระบวนการผลิต ในการเผาไหม้เชื้อเพลิงจะดำเนินการในระบบปิดโดยใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัยควบคุมจะไม่ส่งผลต่อพนักงาน โรงงาน และชุมชนรอบข้าง สำหรับเชื้อเพลิงที่ใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลเท่านั้น คือเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร พืชโตเร็ว พืชพลังงาน ไม่สามารถใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นตามข้อกังวลได้ เนื่องจากเป็นการทำสัญญาขายไฟฟ้าจากชีวมวลเท่านั้น และใบอนุญาตกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ) อุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งหากใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่น จะต้องถูกยกเลิกสัญญา.

ด้านมาตรการ การขนส่งโครงการมีมาตรการ การขนส่งเครื่องจักรช่วงระยะก่อสร้าง และการขนส่งเชื้อเพลิง ในการจัดการจราจร โดยจะใช้รถบรรทุกขนาดเล็กขนส่งเชื้อเพลิงจากจุดพักข้างนอกเข้ามาในโรงงาน และกำหนดช่วงเวลาในการขนส่งเพื่อให้กระทบต่อชุมชนให้น้อยที่สุด
โดยกำหนดสถานที่ตั้ง โรงไฟฟ้าอยู่ในพื้นที่ หมู่1 บ้านสองแควเหนือ ต.นาแก้ว อ.เกาะคา จ.ลำปาง โดยมีพื้นที่ศึกษา ในรัศมี 3 กิโลเมตร รอบโครงการ 5 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลนาแก้ว หมู่ 1 บ้านสองแควเหนือ หมู่2 บ้านสองแควใต้ หมู่ 9 บ้านสองแควสันติสุข , ตำบลเกาะคา ม.3 บ้านม่วงน้อย ม.4 หนองหล่าย ม.7 แม่ฮาม ม.8 ทุ่งเจริญ , ตำบลท่าผา ม1 นางแตน ม.2 ใหม่ ม.3 สบปุง , ตำบลวังพร้าว ม.1 แม่หลง ม.6 สบจาง และตำบลนาแส่ง ม.5 สองแควพัฒนา.

สำหรับประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับ คือ การแบ่งปันผลประโยชน์จากรายได้โรงไฟฟ้าให้แก่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า โดยโครงการได้มีบันทึกข้อตกลง(MOU)ในวงเงิน 200,000 บาทต่อปี กองทุนรอบโรงไฟฟ้า ในช่วงก่อสร้างสบทบเงิน 330,000 บาทต่อปี ในระหว่างการผลิตไฟฟ้า ตลอดอายุสัญญา สูงสุด 480,000 บาทต่อปี
นายธนารัฐ สายเทพ นายอำเภอเกาะคา เปิดเผยว่า จากการประชุมดังกล่าวสรุปเบื้องต้นว่า ทางผู้นำและตัวแทนชาวบ้านยืนยันคัดค้านไม่ให้มีการก่อสร้างนำพื้นที่ เนื่องจากเกรงจะได้รับผลกระทบในด้านต่างๆ ทั้งมลพิษทางอากาศ น้ำและ การขนส่ง ฯลฯ ทางตัวแทนบริษัทได้รับข้อเสนอของตัวแทนชาวบ้าน เพื่อนำเสนอให้กับทางบริษัทให้รับทราบต่อไป ซึ่งหากมีการดำเนินการ ต้องให้ทางอำเภอเกาะคาเปิดเวทีในการรับฟังความคิดเห็นตามขั้นตอนต่อไป
ล่าสุด ในเดือน กุมภาพันธ์ 2565 ชาวบ้านที่ไม่เอาโรงไฟฟ้าชีวมวล บ้านสองแควเหนือ แห่ติดป้ายประท้วงตามรั้ว ตามถนน และหน้าบ้าน และมีการถอนรายชื่อ สมาชิกวิสาหกิจชุมชน ไปแล้ว นับ 80 ราย เตรียมทำเรื่องถอนอีก 10 กว่าราย จากจำนวนสมาชิก 202 ราย.