วันที่ 23 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าชาวบ้านที่บ้านคะแนง หมู่ที่ 10 ตำบลแม่ลาว อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ร่วมกับสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลงานวิจัยในรูปแบบของงานวิจัยจาวบ้าน หรือการวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อค้นหาข้อมูลไว้สำหรับการปกป้องชุมชนตนเอง และความกังวลต่อโครงการสร้างเขื่อนแม่ลาว ของกรมชลประทาน ที่มีแผนการศึกษาการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำแม่ลาว สันเขื่อนมีความสูง 62 เมตร อยู่ห่างจากชุมชนประมาณ 500 เมตร.
แม้ว่ามติที่ประชุมระดับอำเภอมีการประชาคมยกเลิกโครงการดังกล่าวแล้ว แต่ชุมชนก็ยังไม่นิ่งนอนใจโครงการอาจจะกลับมาอีกครั้ง จึงมีมติที่ประชุมหมู่บ้าน ร่วมกันทำการศึกษาวิจัยเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานของชุมชน โดยกำหนดประเด็นการวิจัยออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านแรก เรื่องประวัติศาสตร์นิเวศน์วัฒนธรรมชุมชนความเป็นมาของชุมชน ด้านที่สองศึกษาเรื่องปลาและสัตว์น้ำที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตชุมชน และประเด็นที่สามศึกษาเต่าปูลูถึงระบบนิเวศน์ แหล่งที่อยู่อาศัย ภัยคุกคามและองค์ความรู้ชุมชนเกี่ยวกับเต่าปูลู โดยให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการเป็นนักวิจัย ทำหน้ากำหนดประเด็น วางแผนการเก็บข้อมูล ประเมิน ติดตามการทำงานวิจัย รวบรวมข้อมูลจากผู้รู้ในชุมชน มีผู้ช่วยนักวิจัยจากทางเจ้าหน้าที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตกับนักวิชาการทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุน แนะนำหรืออำนวยความสะดวกในกระบวนการทำวิจัย.
นายปิ่นศักดิ์ ไชยวารินทร์ ผู้ใหญ่บ้านคะแนง กล่าวว่า ชาวบ้านคะแนงมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาแม่น้ำลาว ที่ผ่านมามีการศึกษาโครงการสร้างเขื่อนกันน้ำลาว ทางชุมชนไม่เห็นด้วยเพราะจะส่งผลกระทบต่อวิถีชาวบ้าน แม้ว่าโครงการนี้จะยุติไปแล้ว แต่ชาวบ้านยังไม่นิ่งนอนใจ การทำวิจัยครั้งนี้จะเป็นการเตรียมข้อมูลชุมชน เพื่อให้หน่วยงานได้รับรู้ว่าบ้านเราก็มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน มีพันธุ์ปลาพันธุ์สัตว์น้ำที่หลากหลายและสำคัญต่อชุมชน รวมถึงเต่าปูลูที่เป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ แต่บ้านเรายังมีอยู่ และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเต่าปูลู ทางชุมชนจึงได้ร่วมกันทำงานวิจัยชาวบ้านในครั้งนี้.
นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา กล่าว่า จากการสำรวจเบื้องต้น พบพันธุ์ปลา 21 ชนิด ซึ่งเป็นปลาเฉพาะถิ่นที่อาศัยอยู่ป่าต้นน้ำ เช่น ประจาด ปลาแข้ ปลาป้อม ปลาหัวต้น เป็นต้น และมีการบันทึกลำห้วยที่พบเต่าปูลูที่ยังมีการพบได้ทั่วไปตามลำน้ำสาขาในชุมชน และเต่าปูลู ในทางกฎหมายจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ในปีพ.ศ.2546 IUCN (2011)อยู่ในสถานภาพการอนุรักษ์เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์(En-Endangered) การคุ้มครองตามอนุสัญญาCITES จัดอยู่ในบัญชี 2 (Appendix ll) และชุมชนมีความเป็นมาในการก่อตั้งชุมชนไม่ต่ำกว่าร้อยปี โดยวิถีชีวิตมีความสัมพันธ์กับการพึ่งพาทรัพยากรในชุมชนทั้งป่าและแม่น้ำ.
นาย สิทธิ์ ใจดี ชาวบ้าน คะแนง กล่าวว่า ที่ผ่านมา เคยไปหาปลาและได้พบกับเต่าปูลู อาศัยอยู่ แต่ไม่มากเหมือนก่อน ซึ่งส่วนมากจะออกหากินในเวลากลางคืน และซ่อนตัวในช่วงเวลากลางวัน โดยหลายครั้งพบติดอยู่กับข่ายดักปลา ซึ่งก็แกะออกและปล่อยไปตามธรรมชาติ บางครั้งก็พบติดอยู่ในท่อน้ำ คาดว่าจะเข้าไปกินปลาแล้วติดอยู่ ชาวบ้นส่วนใหญ่ที่พบเต่าปูลู ก็จะปล่อยไปตามธรรมชาติ เพราะรู้ว่าเป็นสัตว์สงวน.
ด้าน นางคำปิน มะโนดี ชาวบ้านคะแนงได้เล่าว่า แม่น้ำลาวเป็นแหล่งชีวิตเป็นที่ทำมาหากิน ลงมาลำห้วยก็ได้ผัก ได้ปลากับไปกิน มันเป็นธรรมชาติของหมู่บ้านที่ได้ใช้ได้หา ถ้าไม่มีน้ำแม่ลาวนี้คนในชุมชนก็ไม่ได้มีที่หากิน ถ้ามีการสร้างเขื่อนแม่ลาวบ้านเราก็ไม่มีอะไรกิน ป่าเราก็หากินของป่า น้ำก็หาปลาสัตว์น้ำ ชุมชนเราอยู่ไกล ถ้าจะให้ไปข้างนอกก็ใช้เวลาเป็นวัน คนบ้านเราก็จะหากินตามลำห้วยแบบนี้ ชุมชนเราไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เพราะดอนบ้าเรามันเป็นดินทราย ฐานมันเปื่อย เกิดเขื่อนพังก็ถล่มหมู่บ้านแน่ ไม่พอการสร้างเขื่อนชุมชนเราก็จะทำมาหากินแบบนี้ไม่ได้แล้ว วันนี้แม่แม่ก็เลยมาช่วยการทำวิจัยเพื่อจะให้คนข้างนอกได้เห็นว่าวิถีคนบ้านเราเป็นอย่างไร ทำไมเราถึงไม่เอาเขื่อน.
สำหรับเวทีการอบรมการวิจัยให้นักวิจัยชาวบ้านคะแนงครั้งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นการทำงานวิจัยโดยทีมผู้ช่วยนักวิจัยได้สร้างทำความเข้าใจกระบวนการ การใช้เครื่องมือในการเก็บข้อมูลแต่ละประเด็น เทคนิคการสัมภาษณ์ การเขียนบันทึก การถ่ายภาพ โดยนักวิชาการและเจ้าหน้าที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ซึ่งการลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูล บันทึกภาพ ทั้ง 3 ประเด็น โดยโครงการศึกษาวิจัยชาวบ้านคะแนงมีระยะเวลาการศึกษา 6 เดือน ก่อนจะสรุปจัดทำรูปเล่มรายงาน และนำเสนอผลงานวิจัยชุมชนต่อไป.