“บิ๊กป้อม” ลุย จ.เชียงราย ฟื้นเวียงหนองหล่ม จัดการน้ำท่วมและภัยแล้งให้ประชาชนในพื้นที่

 

วันที่ 21 ม.ค.2565 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อประชุมติดตามการบริหารจัดการน้ำภาคเหนือ และความก้าวหน้าการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่เวียงหนองหล่ม ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติหนองมโนราห์ ต.จันจว้า อ.แม่จัน จ.เชียงราย โดยมี นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวต้อนรับ และสรุปข้อมูลการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดเชียงราย.

ทั้งนี้ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สรุปภาพรวมการบริหารจัดการน้ำของประเทศในพื้นที่ภาคเหนือและจ.เชียงราย ผู้อำนวยการ สทนช.ภาค 1 สรุปผลการดำเนินงานในการพัฒนาเวียงหนองหล่มและพื้นที่โดยรอบ ผู้แทนกรมชลประทานนำเสนอผลความก้าวหน้าในการพัฒนาเวียงหนองหล่ม และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนานำเสนอผลการดำเนินการการขุดลอกหนองมโนราห์.

ต่อจากนั้นคณะรองนายกฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าการขุดลอกหนองมโนราห์ และส่งมอบโครงการจัดหาน้ำสะอาดสำหรับการอุปโภคบริโภค เพื่อแก้ไขการขาดแคลนน้ำแก่ประชาชนในพื้นที่บ้านท่าข้าวเปลือก ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน ที่ได้รับการสนับสนุนงบกลางปี 2564 พร้อมพบปะประชาชนในพื้นที่.

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางแผนและดำเนินการเพื่อให้จังหวัดเชียงรายมีความมั่นคงด้านน้ำ พร้อมทั้งให้ทุกหน่วยงานบูรณาการพัฒนาเวียงหนองหล่มให้สามารถเก็บกักน้ำได้เต็มศักยภาพในฤดูฝนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง รวมถึงการพัฒนาด้านอื่นๆ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้ โดยมอบหมายให้ สทนช. พิจารณาเร่งจัดทำและดำเนินการศึกษาแผนหลักพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมตั้งกรอบวงเงินให้ครอบคลุมการพัฒนาตามแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี โดยเฉพาะในมิติด้านทรัพยากรน้ำ ให้ สทนช.ติดตาม กำกับ และประสานงานหน่วยงาน เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ดำเนินงานตามแผนงานให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนด ส่วนของการพัฒนาในมิติด้านอื่นๆ ให้สำนักงบประมาณ พิจารณาสนับสนุนงบประมาณตามแผนฯ ที่ จ.เชียงราย เสนอ โดยหน่วยงานในพื้นที่ต้องเตรียมความพร้อมของโครงการในทุกมิติเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณ.

 

สำหรับแผนงานโครงการที่ได้รับงบประมาณแล้วให้หน่วยงานเร่งดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด อาทิ การสำรวจและกันแนวเขตโบราณสถาน การรังวัด ตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดิน การขุดลอกน้ำกกสายเก่า เป็นต้น.

รวมถึงสั่งการให้กรมชลประทาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งประสานขออนุญาตการใช้พื้นที่ของโครงการอ่างฯแม่ตาช้าง อ่างฯแม่คำ และอ่างฯแม่แสลบ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านแหล่งน้ำให้แก่ประชาชน จ.เชียงราย ด้วย.

ทางด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึง ความก้าวหน้าการพัฒนาเวียงหนองหล่มด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ว่า ขณะนี้มีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการรวม 2 โครงการ ได้แก่ การพัฒนาแหล่งน้ำหนองมโนราห์ เมื่อแล้วเสร็จสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ไม่น้อยกว่า 4 แสนลบ.ม. ทำให้ประชาชนในพื้นที่กว่า 5,400 ครัวเรือน มีน้ำใช้เพื่ออุปโภค-บริโภค และพื้นที่การเกษตรอีก 500 ไร่ และโครงการอนุรักษ์และพัฒนาศักยภาพแหล่งมรดกในพื้นที่เวียงหนองหล่ม ขณะที่แผนงานในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำเวียงหนองหล่มดำเนินการโดยกรมชลประทาน และอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2566 ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอีก 4 โครงการ ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำเวียงหนองหล่ม ขุดลอกแม่น้ำลัว อนุรักษ์ฟื้นฟูเวียงหนองหล่มพร้อมระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่.

 

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะทำงานพัฒนา อนุรักษ์และฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม โดยมีรองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ได้ร่วมกันจัดทำรายละเอียดแผนงาน/โครงการ และงบประมาณในการพัฒนาและฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม ภายใต้กรอบระยะเวลา 5 ปี (ปี 2564 – 2568) รวมทั้งสิ้น 39 โครงการ ครอบคลุม 5 มิติให้มีการพัฒนาแหล่งน้ำให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ได้แก่ 1.การเตรียมความพร้อมพื้นที่ดำเนินการ 2.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 4 การพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และ 5 การส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต.

ซึ่งขณะนี้ สทนช.อยู่ระหว่างศึกษาโครงการจัดทำแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม เพื่อปรับปรุงแผนพัฒนาโครงการและแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ โดยครอบคลุมประเด็นด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ให้มีความสมบูรณ์และครอบคลุมทั้งพื้นที่เวียงหนองหล่ม ตามนโยบายรัฐบาลในการฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ให้เกิดศักยภาพสูงสุด ซึ่ง สทนช.จะเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้ความเห็นชอบต่อไป..