วันที่ 26 ธ.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สวนอนุสรณ์สึนามิ บ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ว่าที่ ร.อ.พงษ์ศักดิ์ เวทยาวงศ์ นายอำเภอตะกั่วป่า นำส่วนราชการ นักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ รวมถึงญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่ม เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2547 ร่วมรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่ทำให้ชาวบ้านบ้านน้ำเค็มและนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตจำนวนมาก โดยปีนี้เป็นปีที่17 จัดให้มีพิธีและกิจกรรมอย่างเรียบง่าย ประกอบด้วย พิธีกรรมทางศาสนา ทั้ง 3 ศาสนา คือ ศาสนาพุทธ อิสลาม และศาสนาคริสต์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิต ซึ่งมีญาติผู้เสียชีวิตได้นำรูปถ่าย พร้อมด้วยข้าวปลาอาหารมาร่วมในพิธี พร้อมกับอ่านสารวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติจากนายกรัฐมนตรี พร้อมกับร่วมกันวางพวงมาลา และช่อกุหลาบขาว ที่หน้ารูปคุณพุ่ม เจนเซ่น และยืนไว้อาลัยแก่ผู้ล่วงลับจากเหตุการณ์สึนามิถล่ม
สำหรับช่วงเย็นของวันนี้( 26 ธันวาคม 2564) จะมีการจุดเทียนรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวในพื้นที่ชายทะเลบ้านน้ำเค็มและบริเวณอนุสรณ์สึนามิ เรือตรวจการณ์ 813 โดยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมคำนึงถึงระยะห่าง กำหนดไว้ผู้เข้าร่วมไว้ไม่เกิน 100 คน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของสถานการณ์โรคโควิด 19 ซึ่งบรรยากาศการจัดงานรำลึกในปีที่ 17 เหตุการณ์สึนามิถล่ม พบว่ายังคงอยู่ในความทรงจำของผู้ที่สูญเสียมิเสื่อมคลาย ทั้งนี้การจัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงความสูญเสียจากภัยพิบัติการเตรียมความพร้อมรับมือและป้องกันภัยพิบัติในเบื้องต้นด้วยตนเองและมีจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการดำรงชีวิตทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ
นายนิยม เอี่ยมสวัสดิ์ อายุ66 ปี ชาวบ้านน้ำเค็มเล่าเหตุการณ์ในวันนั้นได้สร้างความสูญเสียให้กับครอบครัวตนเองเองและเพื่อนบ้านเป็นอย่างมากเรียกได้ว่าหมดตัวเลยทีเดียว ในวันนี้ของทุกปีก็จะมาทำบุญรำลึกถึงลูกสาวที่สุญเสียไปในวันนั้น ขณะที่ครบรอบ17 ปี นั้น เหตุการณ์ครั้งนั้นก็เริ่มจะเลือนหายไปจากความทรงจำบ้างแล้ว ขณะที่ชุมชนก็มีความรู้และความพร้อมในการรับมือกับเหตุการณืที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกเช่นกัน
ด้านนายไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท เปิดเผยว่า การจัดงานรำลึกสึนามิทุกปี นอกจากเป็นการทำบุญให้กับผู้สูญเสียแล้ว ทำให้เด็กๆรุ่นใหม่ได้รับรู้ถึงเหตุการณ์ในอดีต ทำให้ชุมชนตื่นตัว พร้อมรับมือต่อภัยพิบัติ จนทำให้ชุมชนบ้านน้ำเค็มกลายเป็นต้นแบบของชุมชนรับมือภัยพิบัติ เป็นที่เรียนรู้ของชุมชนต่างๆทั่วประเทศ